“มาร์ค” แตะเบรกแผน PDP สั่งสำรวจหมู่บ้านห่างไกล-ตัวเลขนิ่งเกือบ 10 ปี

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 4009

 “มาร์ค” สั่งทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว สั่งสำรวจความต้องการจริง และประมาณการเศรษฐกิจที่ชัดเจน หลังพบ ปชช.ในหมู่บ้านไกลปืนเที่ยง ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ปล่อยให้ตัวเลขนิ่งนานกว่า 10 ปี บอร์ด กพช.เล็งปรับลดงบลงทุน 4.6 แสนล้านบาท พร้อมไฟเขียวเพิ่มค่ารับซื้อไฟจากพลังงานทดแทน
       

       นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยระบุว่า ตนเองได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยไปสำรวจจำนวนหมู่บ้านที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เพื่อดำเนินการให้ทั่วประเทศมีไฟฟ้าใช้ครบทุกหมู่บ้าน โดยเรื่องนี้กระทรวงมหาดไทยขอเวลา 6 เดือน เพื่อไปดำเนินการสำรวจร่วมกับกระทรวงพลังงาน
       
       โดยเบื้องต้น รัฐบาลจะพิจารณาว่าจะเป็นผู้ดำเนินการเรื่องการจัดหาไฟฟ้าหรืออาจให้เอกชน เข้ามามีส่วนร่วม เช่น ในเรื่องของการจัดหาพลังงานทดแทน
       
       อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจพบว่าในปัจจุบันยังเหลืออีกเพียง 1-2% ของจำนวนหมู่บ้านในประเทศไทยที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ และไม่มีการดำเนินการจากภาครัฐมากว่า 10 ปีแล้ว
       
       นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงโครงการพลังงานชุมชน ว่า รัฐบาลพร้อมให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ให้สามารถดำเนินการผลิตไฟฟ้าต่อได้ ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนจูงใจเพื่อกระตุ้นให้มี การผลิตไฟฟ้าในระดับชุมชนมากยิ่งขึ้น
       
       ส่วนเรื่องแผนการผลิตไฟฟ้านั้น ได้ขอให้กลับไปทบทวนแผนเฉพาะหน้าในการผลิตไฟฟ้า โดยในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นั้นขอให้ชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าในอนาคตที่ชัดเจน
       
       “มีการพูดถึงแผนผลิตไฟฟ้า ให้มีการทบทวนทำแผนเฉพาะหน้า และอย่าเพิ่งไปพูดถึงโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ รอให้มีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้ากับการประมาณการณ์เศรษฐกิจ ให้มีความชัดเจนแน่นอนมากกว่านี้”
       
       นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า การประชุม กพช.วันนี้ มีการหยิบยกแผนพัฒนาผลิตไฟฟ้าในระยะยาวครั้งที่ 2 (Power Development Plan 2007 Revision 2) ซึ่งเป็นแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ปี 2551-2564 เข้ามาหารือ และมีการถกเถียงในหลายประเด็นเกี่ยวกับความต้องการใช้จริง
       
       เดิมทีแผนดังกล่าวจะมีการเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของภาคเอกชน (IPP) ที่ต้องลงทุนในช่วงปี 2552-2558 ออกไปอย่างน้อย 1 ปี ทำให้การลงทุนตามแผน PDP ใหม่นี้ ลดการลงทุนลง 481,260 ล้านบาท โดยจะลงทุนทั้งหมด 1,626,274 ล้านบาท จากแผนเดิมจะต้องลงทุน 2,107,534 ล้านบาท
       
       สำหรับภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศตามแผนดังกล่าวจะมีทั้ง สิ้น 51,792 เมกะวัตต์ ลดลงจากแผน PDP2007 ปรับปรุงครั้งที่ 1 จำนวน 6,408 เมกกะวัตต์ โดย ณ สิ้นปี 2551 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 29,140 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นปี 52-64 จะมีกำลังการผลิต 30,155 เมกะวัตต์ แต่มีโรงไฟฟ้าที่ปลดจากระบบ 7,502 เมกะวัตต์
       
       ในส่วนของกำลังการผลิต 30,155 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่ดำเนินการโดย กฟผ. 11,769 เมกะวัตต์ รับซื้อไฟฟ้าจาก IPP 6,000 เมกะวัตต์ ซื้อจาก SPP 1,985 เมกะวัตต์ ซื้อจากวีเอสพีพี 564 เมกะวัตต์ ซื้อไฟจากประเทศเพื่อนบ้าน 5,037 เมกะวัตต์ และรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใหม่ 4,800 เมกะวัตต์ ซึ่งในปีสุดท้ายของแผน คือ ปี 2564 กฟผ.จะมีสัดส่วนกำลังผลิตเท่าเดิม อยู่ที่ 43% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 37% จากเดิม 31% การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศจาก 25% เหลือ 11%
       
       สำหรับช่วงปี 2552-2558 ซึ่งเป็นปีที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศจะลดลงต่ำกว่าที่ประมาณ การณ์ไว้ ก็มีการเลื่อนโครงการในช่วงนี้ออกไป โดยแบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ.3 โรง กำลังการผลิตตรวม 2,100 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าไอพีพี 2 โครงการ ของบริษัท สยามเอ็นเนอยี่ ขนาดกำลังการผลิต 1,600 เมกะวัตต์ และบริษัท เนชั่นแนลเพาเวอร์ ซัพพลาย กำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ ก็จะเลื่อนโครงการออกไปอีก 1 ปี ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าในลาว 5 โรง กำลังการผลิตรวม 3,746 เมกะวัตต์
       
       ส่วนโรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559-2564 ก็จะมีการเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ออกไป 3 โรง 2,100 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้า IPP อีก 700 เมกะวัตต์ ออกไปอย่างละ 1 ปี และมีการปรับแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จากเดิมในปี 2563-2564 จะก่อสร้างจำนวน 2 โรง ปีละ 2,000 เมกะวัตต์ ก็ให้เหลือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ และให้เลื่อนออกไป 1 โครงการเป็นเวลา 1 ปี
       
       รมว.พลังงาน กล่าวว่า จะมีการปรับแผน PDP ใหม่อีกครั้งในปลายปีนี้ เนื่องจากจะมีการทำตัวเลขประมาณการณ์ทางเศรษฐกิจใหม่ ที่คาดว่า จะลดลงต่ำกว่า 2% จึงได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และสำนักงานคณะกรรมพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาตัวเลขอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา ประมาณ 8 เดือน
       
       นอกจากนี้ คณะกรรมการ กพช.ยังมีมติที่จะสนับสนุนการรับซื้อโครงการไฟฟ้าขนาดเล็กซึ่งเป็นพลังานทด แทนเพิ่มขึ้น จึงมีการปรับเพิ่มเงินสนับสนุนค่าไฟฟ้า โดยไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลขนาดน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ปรับเพิ่มจาก 30 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 50 สตางค์ต่อหน่วย
       
       ก๊าซชีวภาพ ขนาดน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ เพิ่มจาก 30 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 50 สตางค์ต่อหน่วย, ขยะ ปรับขึ้นจาก 2.50 บาทต่อหน่วย เป็น 3.50 บาทต่อหน่วย, ลม ขนาดน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 3.50 บาทต่อหน่วย เป็น 4.50 บาทต่อหน่วย, พลังน้ำ ที่มีขนาด 50-200 เมกะวัตต์ ขึ้นจาก 40 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 80 สตางค์ต่อหน่วย ส่วนขนาดเล็กกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 80 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 1.50 บาทต่อหน่วย
       
       นอกจากนี้ ยังมีส่วนเพิ่มพิเศษอีก 1 บาท สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล โดยการรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจะมีระยะเวลา 7 ปีนับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

 โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2552 15:10 น.

พิมพ์