กพช.คลอดแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 15 ปี ส่งผลค่าไฟฟ้าขยับขึ้น 8.3 สต.

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 5142

ทำเนียบฯ 9 มี.ค. –คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 15 ปีโดยหลายโครงการเพิ่มเงินรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (ADDER) ทำให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้น 8.33 สต./หน่วย ส่วนแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) 15 ปี เตรียมทำใหม่ โดยรอผลศึกษาจีดีพี 8 เดือนข้างหน้า เบื้องต้นลดลงทุนใหม่ 481,000 ล้านบาท

ภายหลังการประชุม กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 หรือ แผนพีดีพี 2007 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) นั้น โดยให้ดำเนินการตามแผนเฉพาะในปี 2552-2558 เพื่อให้ปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2559-2564 ให้นำไปพิจารณาทบทวนในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในครั้งต่อไป เมื่อประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งในขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าจ้างสถาบันวิชาการศึกษา คาดว่าภายใน 8 เดือนจะแล้วเสร็จ

“ในระหว่างรอการปรับปรุงแผน ได้สั่งให้ กฟผ.ทำแผนรองรับโดยดูตั้งแต่จีดีพี ขยายตัวร้อยละ 1 ไปจนถึงหดตัวร้อยละ 1 เพื่อเตรียมแผนการผลิตรองรับ เพราะหากสำรองไฟฟ้าสูงเกินไปก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงเกินควรด้วย” รมว.พลังงาน กล่าว

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของแผนพีดีพี 2007 ครั้งที่ 2 สาระสำคัญ เช่น ปรับปรุงกำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) เฉพาะประเภท Firm ให้เร็วขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 2 ปี ปรับเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP 2 โครงการออกไปอีก 1 ปี ปรับเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้า ของ กฟผ. ปรับลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2563-2564 ให้เหลือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ จากเดิมปีละ 2,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น

โดยภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2564 คิดเป็น 51,792 เมกะวัตต์ ซึ่งลดลงจากแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จำนวน 6,408 เมกะวัตต์ ลดเม็ดเงินลงทุน 481,000 ล้านบาท จาก 2.107 ล้านล้านบาท เหลือ 1.626 ล้านล้านบาท โดยกำลังผลิตดังกล่าวแบ่งออกเป็น ผลิตโดย กฟผ. 11,769 เมกะวัตต์ ไอพีพี 6,000 เมกะวัตต์ เอสพีพี 1,985 เมกะวัตต์ วีเอสพีพี เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่ได้กำหนดจำนวนเป็น 564 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน 5,037 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ตามแผนดังกล่าว กฟผ.จะมีการปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่า 7,502 เมกะวัตต์ ส่วนที่จะสร้างขึ้นทดแทนในอนาคต 4,800 เมกะวัตต์นั้น ตามแผนยังไม่กำหนดว่าจะให้ กฟผ.ก่อสร้างหรือใช้วิธีการประมูลไอพีพี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงาน โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่มีข้อจำกัดระยะเวลา และปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี และปรับปรุงอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า คาดว่าสิ้นสุดแผนแล้วจะมีพลังงานทดแทนรวม 5,604 เมกะวัตต์ แต่จากที่ต้นทุนผลิตราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้มีภาระจ่ายค่า ADDER ประมาณ 20,000 ล้านบาท/ปี และส่งผลค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 8.3 สต./หน่วย

สำหรับการปรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับเชื้อเพลิงบางประเภท ได้แก่ ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.30 บาท เป็น 0.50 บาท ขยะประเภทพลังงานความร้อน ที่เป็นขยะชุมชน หรือขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ขยะอันตราย และไม่เป็นขยะที่เป็นอินทรีย์วัตถุ ปรับขึ้นจาก 2.50 บาท เป็น 3.50 บาท พลังงานลมที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 3.50 บาท เป็น 4.50 บาท และพลังน้ำขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ แต่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.40 บาท เป็น 0.80 บาท ส่วนพลังน้ำขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.80 บาท เป็น 1.50 บาท ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ยังคงให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราเดิม คือ 8.00 บาทต่อหน่วย

นอกจากนั้น ยังมีการให้ส่วนเพิ่มพิเศษอีก 1 บาทสำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าจากดีเซลของ กฟภ. ยกเว้นพลังงานลมที่ให้เพิ่มอีก 1.50 บาท ทั้งนี้ การให้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว จะมีกำหนดระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ยกเว้นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำหนดระยะเวลาสนับสนุน 10 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ.

 

-สำนักข่าวไทย 9-3-52

พิมพ์