“จิตสำนึกผู้บริโภค" กับ "การค้าที่เป็นธรรม”

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 8615

เมื่อประเด็น "จิตสำนึกผู้บริโภค" กับ "การค้าที่เป็นธรรม" เข้าสู่โรงเรียน จะดีแค่ไหน ถ้าเรารู้ว่า... เสื้อที่เราใส่มีที่มาอย่างไร  ผักที่กินอยู่ทุกวันมาจากไหน ชาวนาปลูกข้าวให้เราเหนื่อยมากน้อยเพียงใด ปัญหาความไม่เท่าเทียมและการเอาเปรียบกันในสังคมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคก็คงจะลดลง

 

กระแส "วิกฤติอาหาร" ไปจนถึงภาวะของกินของใช้ที่ไม่ปลอดภัย ดังที่ได้เห็นจากกรณีสารปนเปื้อนในนม ี่ดูจะรุนแรงมากขึ้นทุกที่ แต่ในเวลาเดียวกัน ผู้บริโภคในสังคมไทยก็รู้เท่าทันมากขึ้น และรับผิดชอบต่อการบริโภคของตนเองมากขึ้น ณ วันนี้ กระแสผู้บริโภคที่ตื่นรู้ได้เข้าไปสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานคือ "โรงเรียน"แล้ว ผ่านการเรียนการสอนของคุณครูในโครงการ "จิตสำนึกพลโลก" (Global Action Schools)ซึ่งดำเนินการโดยองค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย

Image


"เพราะนักเรียนเป็นผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับคนทั่วโลกผ่านสินค้าที่พวกเขาบริโภค  การพัฒนาความตระหนักในเรื่องการค้าที่เป็นธรรม จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจว่าโลกนั้นเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และพวกเขามีความรับผิดชอบ ในฐานะที่เป็นพลเมืองที่รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก" เป็นความคิดเห็นของคุณครูอมรพรรณ กุลวรรธไพสิฐ คุณครูจากกลุ่มสาระฯ สังคมศึกษาช่วงชั้นที่ 3-4 โรงเรียนสายปัญญา ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการ "จิตสำนึกพลโลก" มาตั้งแต่ต้น โดยนำคู่มือ "จิตสำนึกผู้บริโภคกับการค้าที่เป็นธรรม" เข้าไปบูรณาการสอนในห้องเรียน ด้วยรูปแบบกิจกรรม เรียนรู้ สืบค้น ปฏิบัติการ ที่สนุกและปรับใช้ได้ในชีวิตประจำวัน

กิจกรรมที่นักเรียนรู้สึกคึกคักเป็นพิเศษกิจกรรมหนึ่ง คือกิจกรรม "ราคาที่แท้จริง"
ที่นักเรียนแบ่งกลุ่มกันเป็นหน่วยย่อยต่างๆของระบบการค้ากล้วย เช่น คนปลูกกล้วย เจ้าของไร่ เจ้าของห้างสรรพสินค้า โดยนักเรียนต้องอภิปรายว่ากลุ่มของตนเองน่าจะได้รับค่าจ้างเท่าไหร่จากการทำงาน โดยมีคุณครูช่วยตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนคิดให้รอบด้าน "คนปลูกกล้วยต้องมีค่าใช้จ่ายไหม มีครอบครัวไหม ลูกๆต้องไปโรงเรียนหรือเปล่า ต้องมีค่ารักษาพยาบาลหรือเปล่า" การถกเถียงแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างกระตือรือร้น นักเรียนได้แสดงความคิดเห็น โดยไม่มีใครมาตัดสินถูกผิด แต่ได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของตนเอง

Image 


"รู้สึกแปลกใจ ที่เรื่องอย่างนี้มีในชีวิตจริงด้วย แล้วก็สงสาร รู้สึกถึงการโดนรุกรานสิทธิของความเป็นมนุษย์ค่ะ" นักเรียนคนหนึ่งของคุณครูอมรพรรณกล่าว หลังจากได้เรียนรู้ว่า คนงานถูกนายจ้างเอาเปรียบได้อย่างไรบ้าง ทำให้เราได้รู้ว่าถ้าวันหนึ่งเราเป็นผู้บริหาร เราก็ควรจะมีความเป็นธรรมกับคนงานของเราด้วย”

แน่นอนว่า การบูรณาการเนื้อหาที่กระตุ้นให้คนหันมาสำรวจตรวจสอบพฤติกรรมการบริโภคของตนเอง ไปจนถึงมองเห็นภาพรวมของการค้าโลกที่มีเราเป็นส่วนหนึ่งของลูกโซ่ทั้งหมดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายในกระแสบริโภคนิยมที่เป็นอยู่นี้ แต่สำหรับคุณครูอมรพรรณและคุณครูอีกหลายท่านจากโรงเรียนต่างๆที่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการ "จิตสำนึกพลโลก"นั้น นี่เป็นเรื่องที่ต้องทำ "ในเมื่อมันเป็นสิ่งที่ต้องทำ มันต้องทำ ถึงแม้มันจะยากแค่ไหน เพราะว่ามันเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ทำแล้วเกิดสิ่งดีๆกับสังคม" คุณครูอมรพรรณกล่าวอย่างจริงจัง

Image

โครงการ "จิตสำนึกพลโลก" (Global Action Schools) เป็นโครงการสร้างและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ประเด็นทางสังคม เช่น โลกร้อน สิทธิมนุษยชน และการค้าที่เป็นธรรม เพื่อสร้างจิตสำนึกทางสังคม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเน้นสนับสนุนและกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม รู้จักคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และเชื่อมโยงตนเองกับสังคมและโลกได้ เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นในมิติต่างๆ เริ่มต้นจากในโรงเรียนของเขาเอง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ สืบค้น และปฏิบัติการ

โครงการจิตสำนึกพลโลกนี้ ยินดีร่วมสนับสนุนและมอบสื่อการเรียนการสอนให้กับคุณครู และโรงเรียนที่สนใจ เเพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะในประเด็นทางสังคมให้แก่เยาวชน สมัครเข้าร่วมโครงการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

ติดต่อผู้ประสานงานโครงการ Global Action Schools คุณศักดิ์สินี เอมะศิริ องค์การแอ็คชั่นเอด ประเทศไทย 717 ซ.บรมราชชนนี 4 ถ.บรมราชชนนี บางบำหรุ บางพลัด กรุงเทพฯ10700 โทรศัพท์ 02-886-5276 โทรสาร 02-886-5483 อีเมล์
 This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

เพราะทุกคนเป็นพลโลกเหมือนกันหมด แต่พลโลกที่ดีต่างกับพลโลกธรรมดาตรงที่
การลงมือปฏิบัติจริง

พิมพ์