มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเสนอข้อเรียกร้องต่อหน่วยงาน ก.ศึกษา และ ก.คมนาคม ให้ทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนขั้นสูงสุด ปรับปรุงข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ให้สอดคล้องทั้งสองหน่วยงานและปฏิบัติได้จริง ย้ำหากเกิดเหตุซ้ำซากต้องลงโทษทันที
จากกรณีอุบัติเหตุรถตู้นักเรียนตกลงข้างทาง บริเวณถนนสายบ้านธาตุ-ปากชม ช่วงบ้านโนนภูทอง ต.ธาตุ อ.เชียงคาน จ.เลย และมีนักเรียนได้รับบาดเจ็บ 10 ราย เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 65 ที่ผ่านมานั้น นายธนัช ธรรมิกสกุล หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ช่วงเวลาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ทำงานภายใต้โครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายผู้บริโภค มีข้อเรียกร้องต่อกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงคมนาคม (คค.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนขั้นสูงสุด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อหยุดปัญหาลดเจ็บตายบนท้องถนนกับการเดินทางของนักเรียน พร้อมเสนอเพิ่มตัวชี้วัดจังหวัด หากเกิดเหตุซ้ำซากต้องลงโทษทันที เพราะมีการสูญเสียกันมามากพอแล้ว
โดยมีข้อเสนอต่อมาตรการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย มีดังนี้
1. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยเพื่อการเดินทางของนักเรียน เพื่อเป้าหมายความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน
2. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการกำหนดบทบาทให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยมีภารกิจสนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคเรียนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป
3. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนนโยบายให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของนักเรียน โดยถือว่าหนึ่งในสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่เป็นบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
4. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงคมนาคม บูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ และข้อมูลของสองหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกันสามารถใช้ปฏิบัติได้จริง และกำหนดการเดินทางที่ปลอดภัยของนักเรียนให้เป็นแผนงานหลักของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัด หรือ โรงเรียน เป็นต้น
5. ขอให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนมีมาตรการให้ทุกจังหวัดต้องมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยให้กำหนดโครงสร้างการเน้นการมีส่วนร่วมของคนทำงานที่ประกอบด้วย หน่วยงานท้องถิ่น นักวิชาการ และเครือข่ายผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน และกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน หากจังหวัดใดเกิดเหตุซ้ำซากต้องมีมาตรการลงโทษโดยทันที