เครือข่ายผู้บริโภค จี้รัฐสภาไทย หยุดตอนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3257

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแฉกระบวนการตัดตอนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค หลังจากที่ได้ร่วมกันผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... แบบมาราธอนมากว่า 14 ปี จนขณะนี้เข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของกรรมาธิการร่วม 2 สภา  ซึ่งคาดว่าจะเดินหน้าลำบาก เพราะกรรมาธิการร่วมบางส่วนต้องการรื้อกฎหมายทั้งฉบับและไม่ให้ตรวจสอบภาคธุรกิจเอกชน ไม่ให้เปิดเผยชื่อสินค้าที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยอ้างว่า หากไม่แก้ไขตามความเห็นกฎหมายอาจไม่ผ่านความเห็นชอบของสภา

 

วันนี้ (13 ตุลาคม ) สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเสวนา “พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะให้รอถึง พ.ศ. ไหน? หะ! สภาไทย หยุดตอนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค” ณ ห้องประชุม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ รัฐบาลกำลังตัดตอนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

“ทำไมถึงเรียกว่าตัดตอน ต้องบอกว่าขณะนี้ ร่าง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ...ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม มีความพยายามที่จะยื้อและรื้อกฎหมายทั้งฉบับ หวังจะให้มีกฎหมายออกมา แต่ทำอะไรไม่ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก 2ฉบับ คือ   1) พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  2) พรบ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค กำหนดให้มูลนิธิฯ หรือสมาคม ที่ต้องการจะฟ้องคดีผู้บริโภค ต้องขออนุญาตก่อน และเป็นการขออนุญาตทุกขั้นตอนในกระบวนการพิจารณาคดี” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

พร้อมกล่าวเสริมว่า เมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเตรียมการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมจัดเวทีในพื้นที่ทั่วประเทศ รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุนกฎหมายและนำมามอบให้ประธานรัฐสภาในวันพิจารณากฎหมาย  ทั้งนี้เพื่อให้มีกฎหมายที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคและต้องมีทั้งสมองและหัวใจในการทำงาน สามารถทำหน้าที่ได้ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ม.61 จึงยืนยันในจุดยืน 5 เรื่อง ที่ต้องมีในกฎหมายฉบับนี้ คือ

1) กำหนดงบประมาณต่อหัวประชากร เพื่อความเป็นอิสระ

2) สามารถตรวจสอบธุรกิจเอกชนได้

3) สามารถเปิดเผยรายชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้

4) สามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาดำเนินคดีได้ และ

5) สนับสนุนการใช้สิทธิและองค์กรผู้บริโภค

ด้าน รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชนกล่าวว่า “ขณะนี้สภาต้องไม่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำในการทำกฎหมาย เพราะเสียเวลา เสียงบประมาณ และผู้บริโภคไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิของมานาน”

อนึ่งการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ที่ผ่านมา 3 สัปดาห์ โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ นั้น  มีหลายประเด็นที่มีความเห็นต่างจากการพิจารณากฎหมายที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร  ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา  ประเด็นที่มีความเห็นที่แตกต่าง มี

(1) เรื่อง งบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ 3 บาท ขณะที่วุฒิสภาได้แก้ไขและเห็นชอบ 5 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งทั้งสองสภาต่างเห็นด้วยในการกำหนดงบประมาณต่อหัวประชากร แต่กลับมีกรรมาธิการบางท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการลงมติผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวมาเสนอให้คณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาไม่ให้กำหนดงบประมาณต่อหัวไว้ในกฎหมาย โดยอ้างเหตุผลให้เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารในการสนับสนุนงบประมาณ  และ ยังได้สงวนญัติในประเด็นดังกล่าวไว้ด้วย  ( 2) เรื่อง บทบาทของคณะกรรมการองค์การอิสระ  มาตรา 19 เรื่องอำนาจหน้าที่คณะกรรมการซึ่งในการพิจารณาที่ผ่านมาไม่มีการแก้ไขใดๆ และทั้งสองสภาต่างเห็นชอบแบบเดียวกัน แต่ในการประชุมกลับอ้างอาจเกินรัฐธรรมนูญทั้งที่ประเด็นเหล่านี้ต่างถกเถียงอย่างมากมาย   (3)ที่มาของคณะกรรมการสรรหา   (4) องค์กรผู้บริโภคเป็นใครบ้างมีที่มาที่ไปอย่างไรเป็นต้น" รศ.ดร. จิราพร

พร้อมกล่าวเสริมว่าจากการอภิปรายของคณะกรรมาธิการ และ การสงวนคำแปรญัติของกรรมาธิการสัดส่วนรัฐบาลนั้น เห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้อาจถูกตัดตอนแก้ไขไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ในการคุ้มครองผู้บริโภค สาระสำคัญที่อาจถูกตัดตอนไม่เขียนไว้ในกฎหมาย

การออกมาเคลื่อนไหวของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล และรัฐสภา ให้มีความจริงใจในการออกกฎหมาย องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ตีรวนหรือเต๊ะถ่วงหยุดตัดตอนการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน

 

ชมคลิปวีดีโอ การผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

พิมพ์