เครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือจัดเวทีสภาประชาชน ผลักดันองค์การอิสระผู้บริโภค

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3859

เครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือจัดเวทีสภาประชาชน ภาคเหนือหนุนองค์การอิสระผู้บริโภค พร้อมเสนอประเด็นสุขภาพต้องมีมาตรฐานเดียว

 

เมื่อวันที่ 26 – 27 เมษายน 2554 ที่โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ จ. เชียงใหม่ เครือข่ายภาคประชาชน จาก 18 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและตอนล่าง ร่วมกันเปิด “สภาประชาชน ภาคเหนือ” เพื่อหาข้อเสนอร่วมกันในการสร้างแนวทางการทำงาน ทั้งในระดับพื้นที่และในระดับนโยบาย ระบบสุขภาพสู่มาตรฐานเดียวและขับเคลื่อนขบวนสู่องค์การอิสระผู้บริโภค

การขับเคลื่อนระบบสุขภาพมาตรฐานเดียวสู่หลักประกันทั้งสังคมนั่น ที่สภาฯเห็นว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพใหญ่ๆ ด้วยกัน 5 ระบบ ได้แก่

ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ดูแลคนที่มีสัญชาติไทย ประมาณ 47 ล้านคน ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณทั้งหมด โดยจัดสรรตามค่าใช้จ่ายรายหัวของประชากรที่ใช้สิทธิ ในปี 2554 อยู่ที่ประมาณ 2,546.48 บาทต่อคน

ระบบสวัสดิการข้าราชการ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ครอบคลุมผู้มีสิทธิประมาณ 5 ล้านคน ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เช่นเดียวกับระบบบัตรทอง

ระบบประกันสังคม ดูแลผู้ประกันตน ประมาณ 9 ล้านคน โดยผู้ประกันตนสมทบ ร่วมกับนายจ้างและรัฐ ใน 5% ของเงินเดือนที่เราสมทบในระบบประกันสังคมนั้น แบ่งเป็น...

กรณีเจ็บป่วย 0.88% กรณีคลอดบุตร 0.12% กรณีทุพพลภาพ 0.44% กรณีตาย 0.06% กรณีชราภาพ 3% และสงเคราะห์บุตร ซึ่งส่วนนี้รัฐจ่ายทั้งหมด และกรณีว่างงาน 0.5

ระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ซื้อบัตรประกันสุขภาพราว 1.3 ล้านคน

กองทุนคืนสิทธิ ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 23 มีนาคม 2553 ดูแลในกลุ่มชาติพันธุ์ที่รอพิสูจน์สัญชาติ เบื้องต้นตั้งเป้าคนขึ้นทะเบียนไว้ที่ประมาณ 457,409 คน (แต่จำนวนที่ลงทะเบียนมีไม่ถึง)

จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่ามาตรฐานการรักษาในบ้านเรายังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ เห็นได้จากระบบประกันสังคมที่ผู้ประกันตน และนายจ้างร่วมจ่าย เป็นความซ้ำซ้อนที่ผู้ประกันตนต้องสมทบ เพื่อให้ได้สิทธิการรักษาพยาบาลเอง ในส่วนของแรงงานข้ามชาติก็ซื้อบริการสาธารณสุขผ่านบัตรประกันสุขภาพ แต่สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาก็ไม่เท่าเทียมกับคนไทย

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ. บำนาญชราภาพ ที่เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้มีการยื่นร่างกฎหมายไปยังรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 ก็ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญกับประเด็นการออมแห่งชาติมากกว่า ทำให้สวัสดิการขั้นพื้นฐานของประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกคน ไม่มีหลักประกันที่มั่นคงยามชราภาพ

 

สภาประชาชน ภาคเหนือ จึงมีข้อเสนอต่อประเด็นดังกล่าว คือ 1 ควรผลักดันให้ระบบการรักษาพยาบาลในไทยทั้ง 5 ระบบ ซึ่งประกอบด้วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ระบบประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ และกองทุนคืนสิทธิ สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ ให้มีแนวทางการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกระบบ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขในสังคมไทย

2.ควรผลักดันในการแก้กฎหมายให้สำนักงานประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระ และควรมีช่องทางให้ผู้ประกันตนทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการระบบในทุกด้าน อีกทั้งควรยกเลิกให้ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบในส่วนของค่ารักษาพยาบาลด้วย

3.ควรผลักดันให้มีกฎหมายมารองรับกองทุนคืนสิทธิ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันที่มั่นคงและยั่งยืนให้กับกองทุน อีกทั้งควรมอบอำนาจการบริหารจัดการให้อยู่ในระบบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และควรมีชุดสิทธิประโยชน์เทียบเท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า และต้องมีแนวทางในการค้นหากลุ่มคนที่ตกสำรวจ ได้เข้าถึงสิทธิดังกล่าวอย่างทั่วถึง

3.ควรเพิ่มจำนวนศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ กระจายไปทุกพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้มีกลไกในการติดตาม สื่อสาร และเชื่อมโยงในเชิงนโยบายได้อย่างครอบคลุม

4. ควรมีการจัดทำชุดข้อมูล สื่อ และกระบวนการให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุดสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาทั้ง 5 ระบบ หรือการสร้างความเข้าใจเรื่องบำนาญชราภาพ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดสรรให้กับทุกคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้ทุกกลุ่มคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าทัน

5.กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น ควรมีการปรับเปลี่ยนระเบียบที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างที่มาของประธานและคณะกรรมการต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นฐานคิดของการกระจายอำนาจให้คนในท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมากขึ้น เพื่อให้เป็นกองทุนที่ตอบสนองต่องานส่งเสริมและป้องกันให้กับคนในชุมชน

 

วาระที่ 2 : “ประชาชนได้อะไรจากองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค”

แนวคิดเรื่อง “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตราที่ 57 ซึ่งกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย ให้การคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างอิสระ

มาในรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามมาตราที่ 61 ได้ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ครอบคลุมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง การมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ที่สำคัญมีการกำหนดให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค

ดังนั้น ภาคประชาชนจึงลุกขึ้นมาล่ารายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กว่า 12,208 รายชื่อในการเสนอ “(ร่าง) กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน” ขึ้น ซึ่งได้ยื่นให้กับประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 และได้บรรจุอยู่ในวาระการพิจารณาของรัฐสภาที่ 5.75

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 54 สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณากฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค ซึ่งสมาชิกใช้เวลาในการอภิปรายกันนานถึง 5 ชั่วโมง หลังการอภิปรายที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนน 301 ต่อ 2 เสียง และต้องรอการพิจารณากฎหมายจากสมาชิกวุฒิสภาเป็นลำดับต่อไป

ด้านเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ  จึงเดินหน้าจัดเวทีรณรงค์ให้ความรู้เรื่องกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภค เพื่อเป็นการรณรงค์แสดงพลัง สร้างกระแสการรับรู้ ความตื่นตัวให้กับประชาชนและสังคมในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งกำหนดยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายประชาชนในองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค

 

สภาประชาชน ภาคเหนือ จึงมีข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ดังต่อไปนี้ 1. ภาคประชาชนควรมีความตื่นตัวในสิทธิของตนในฐานะที่เป็นผู้บริโภค และร่วมกันรณรงค์ผลักดันกฎหมายอย่างเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง จนกว่ากฎหมายจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

2. ควรปรับมุมมองของกฎหมายใหม่ ว่าไม่ใช่เป็นเครื่องมือทางอำนาจ แต่ต้องมองในแง่ของการส่งเสริมกระบวนการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

3.ภาคประชาชนต้องหาช่องทางที่เป็นเครื่องมือทางสังคม เช่น การใช้พื้นที่สื่อ หรือการมีเวทีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค และเป็นการเสริมพลังการขับเคลื่อนของภาคประชาชน ควบคู่ไปการกระจายข้อมูลข่าวสารบนพื้นที่สื่อสาธารณะในเรื่ององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างรอบด้าน

4.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางองค์กรขึ้นมาใหม่ โดยปราศจากการครอบงำของระบบราชการ เพื่อให้การดำเนินงานได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง

5.สนับสนุนการทำงานร่วมกับนักวิชาการในการทำงานวิจัย และการจัดองค์ความรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบาย

 

อนึ่ง เครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือ 18 จังหวัด ประกอบไปด้วยศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ภาคเหนือ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่ายผู้พิการ เครือข่ายผู้สูงอายุ เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์ เครือข่ายเด็กและเยาวชน เครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายเกษตรทางเลือก เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายชุมชนเมือง และนักวิชาการที่สนใจงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ภาคเหนือ

พิมพ์