บริการสุขภาพ

ผู้เสียหายทางการแพทย์ เผย แฉรพ.เอกชนเรียกค่ามัดจำ 1.7 แสนบาทผู้ป่วยฉุกเฉิน

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 2184

preyanan
ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผย รพ.เอกชน ยังเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยแม้จะมีการย้ำนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกสิทธิ ขอให้รมว.สาธารณสุขแก้ปัญหาด่วน

เมื่อวันที่1 มี.ค. นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาฟรีทุกสิทธิ ว่า แม้รัฐจะมีนโยบายดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกสิทธิการรักษาพยาบาลฟรี 72 ชั่วโมง จากนั้นจะต้องส่งผู้ป่วยคืนโรงพยาบาลตามสิทธิการรักษาแต่ที่ผ่านมายังมี ปัญหาเรียกเก็บเงินผู้ป่วยตลอด ขณะที่รมว.สาธารณสุข ยังไม่ออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้มากนัก ทำให้มีผู้ร้องเรียนมาที่เครือข่ายฯ หลายราย ซึ่งล่าสุดมีผู้ป่วยโรคความดันและไขมันในเลือดสูง มีอาการเจ็บหน้าอกมาก เข้าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเมื่อเดือน ธ.ค.2558 แพทย์ได้ทำบอลลูนให้ และเรียกเก็บเงินมัดจำ 170,000 บาท จากค่าใช้จ่ายทั้งหมด 260,000 บาทซึ่งถือว่าไม่สามารถทำได้ เพราะอาการเช่นนี้คือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่อาจส่งผลต่อชีวิต ภรรยาของผู้ป่วยได้ขอให้โรงพยาบาลทำเรื่องเบิกจากองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่โรงพยาบาลแห่งนี้กลับบอกว่าบางครั้งก็ไม่เข้ากรณี

และเมื่อถามไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ก็บอกรอเอกสารจากโรงพยาบาล ขณะที่ทางโรงพยาบาลบอกให้รอ สปสช. ปัญหาแบบนี้ทำให้ประชาชนต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายเอง ถ้าเป็นเช่นนี้ขอให้ยกเลิกนโยบายนี้ดีกว่า จึงขอให้รมว.สาธารณสุขให้ความสำคัญเรื่องนี้และเร่งแก้ปัญหานี้

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจและมีการทำงานมาตลอด โดยมอบหมาย พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงฯ ดูแลนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินว่ามีปัญหา และจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เบื้องต้นต้องพิจารณาหลายด้าน อาทิ การจัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับคำนิยาม “เจ็บป่วยฉุกเฉิน”ซึ่งมีหลายระดับ การแก้ปัญหาค่ารักษาที่คิดตามกลุ่มโรคเดิมได้ประสานกับโรงพยาบาลเอกชนคิดใน ราคากลุ่มโรคละ 10,500 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนมองว่าไม่เพียงพอ ซึ่งต้องมีการหารือกันอีก รวมถึงการห้ามโรงพยาบาลเอกชนเก็บเงินค่ารักษาเคสเจ็บป่วยฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมง หลังพ้น 72 ชั่วโมง จะต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสิทธิ ซึ่งทุกสิทธิ์มีโรงพยาบาลรองรับพร้อมแล้ว ยกเว้นข้าราชการที่กรมบัญชีกลางกำลังหาทางออก

อนึ่งข้อมูลสถานการณ์และผลการดำเนินงานกรณีใช้สิทธิรักษาพยาบาลภาวะเจ็บป่วยฉุก เฉิน ปี 2558 มีโรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 358 แห่ง มีผู้ป่วยในเข้ารับบริการ 1,275 ครั้ง รวม 45,704,352.78 บาท ผู้ป่วยนอกที่เข้ารับบริการ 233 ครั้ง รวม 1,064,371.34 บาท ส่วนเรื่องที่มีการร้องทุกข์พบประมาณ 139 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจ่ายค่ารักษาและการบริการ.“

อ้างอิงข้อมูลจาก นสพ.เดลินิวส์ออนไลน์ 1 มี.ค.59
ภาพประกอบจาก internet

พิมพ์