แพทยสภาผนึกสภาวิชาชีพแถลงข่าว คำประกาศสิทธิผู้ป่วยและข้อพึงปฏิบัติฉบับใหม่ นายกแพทยสภาเผยฉบับเดิมใช้มา 17 ปีแล้ว จึงควรออกฉบับใหม่ให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องสิทธิชัดเจน และเพิ่มข้อพึงปฏิบัติด้วย รวมถึงข้อควรรู้ทางการแพทย์ เช่น การรักษาทุกชนิดมีความเสี่ยงเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้ และเหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้แม้จะระมัดระวังเพียงพอแล้ว ส่วนกรณีเครือข่ายผู้ป่วยตั้งข้อสังเกตจำกัดสิทธินั้น ต้องประสานความเข้าใจร่วมกันให้ได้
เมื่อวันที่ 16 กันยายน ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายก แพทยสภา พร้อมด้วยสภาวิชาชีพต่างๆ ทั้งสภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ ร่วมแถลงข่าวประกาศใช้ “คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากแพทยสภาและภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพ และคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ได้ประกาศใช้สิทธิของผู้ป่วยตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ทางภาคีสภาวิชาชีพด้านสุขภาพเห็นว่า ประกาศนี้ใช้มานานถึง 17 ปีแล้ว จึงควรต้องออกประกาศเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องสิทธิชัดเจนขึ้น โดยประกาศฉบับเดิมจะมีเพียงคำประกาศสิทธิ แต่ไม่มีหน้าที่ที่พึง ปฏิบัติ ประกาศใหม่จึงมีการเพิ่มหน้าที่พึงปฏิบัติ ทำให้ครอบคลุมมากขึ้น และหลังจากนี้จะแจกประกาศสิทธิผู้ป่วยและข้อพึงปฏิบัติตามสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งคลินิกทั่วประเทศ
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สำหรับคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยฉบับใหม่ ได้จัดทำเสร็จตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2558 โดยเพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย อาทิ สอบถามเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนลงนามให้ความ ยินยอมหรือไม่ยินยอมก่อนการรักษา ให้ข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่างๆ ทางการแพทย์ที่เป็นจริง และครบถ้วนแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพในกระบวนการรักษา แจ้งสิทธิการ รักษาพยาบาลพร้อมหลักฐานที่มีให้เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาล และที่สำคัญผู้ ป่วยพึงรับทราบข้อควรรู้ทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานและจริยธรรมย่อม ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิกรณีถูกกล่าวหาไม่เป็นธรรม การรักษาพยาบาลทุก ชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ได้ นอกจากนี้เหตุสุดวิสัยอาจ เกิดขึ้นได้แม้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพจะใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอ แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่าเครือข่ายผู้ป่วยตั้งข้อสังเกตว่ากรณีเหตุสุดวิสัยจะ ทราบได้อย่างไร และคำประกาศนี้จะเป็นการจำกัดสิทธิผู้ป่วยหรือไม่ ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญต้องประสานความเข้าใจร่วมกันให้ได้ เพราะจริงๆ แล้วแพทย์ทุกคนย่อมต้องการตรวจวินิจฉัยและรักษาให้คนไข้อย่างดีที่สุด แต่บางครั้งก็อาจเกิดเหตุสุดวิสัยได้ ซึ่งตรงนี้พิจารณาได้ เช่น อัตราการเกิดเหตุหากกรณีพบ 1 ในหมื่นก็ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยได้
เมื่อถามว่ากรณีการตรวจเลือดแล้วพบเชื้อเอชไอวีปลอมเหมือนที่เป็นข่าว ก่อนหน้านั้น ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ก็เป็นได้ แต่จากที่เคยเป็นข่าวนั้นล่วงเลยมา 7 ปี ขณะนั้นพบเชื้อเอชไอวี มีการตรวจซ้ำ แต่เป็นการตรวจเลือดเก่า แต่ปัจจุบันเมื่อตรวจพบเอชไอวีก็จะให้ยาต้านไวรัสฯ ทันที และมีการตรวจเลือดซ้ำด้วยการเจาะเลือดใหม่ ไม่ใช้เลือดเก่า ซึ่งตรงนี้สำคัญ ซึ่งแต่ละกรณีก็ต้องพิจารณาตามเคสไป
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ
ภาพประกอบจาก internet