บริการสุขภาพ

สปสช. ชี้ แผนปฏิรูประบบสาธารณสุขตัดขาดประชาชน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) วันที่ . จำนวนผู้ชม: 69692

that sis with green board

บอร์ด สปสช. เผย แผนปฏิรูประบบสาธารณสุขตัดขาดประชาชน และมองการจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นภาระของประเทศ

 

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2561 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวเกี่ยวกับแผนปฏิรูประบบสาธารณสุขที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 เมษายน 2561 ว่า เป็นการแผนปฏิรูปที่ตัวแทนจากประชาชนไม่มีส่วนร่วม มีหลักคิดที่เห็นประชาชนเป็นแค่เพียงผู้รอรับบริการจากผู้ให้บริการ แต่ไม่ยอมให้มีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งเป็นวิธีการที่ล้าหลัง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิรูปโดยพวกพ้อง เพื่อพวกพ้องเท่านั้น

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า แผนปฏิรูประบบสาธารณสุขนี้ มีบางข้อความที่สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่า อาจทำให้เกิดความไม่ทั่วถึงในการใช้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น การให้ออกกฎหมายเป็นกรอบร่วมกันระหว่างกองทุนสุขภาพ กำหนดให้มีชุดสิทธิประโยชน์หลัก ชุดสิทธิประโยชน์เสริมซึ่งแตกต่างกันระหว่างกองทุน มีชุดสิทธิประโยชน์ทางเลือกเพื่อร่วมจ่าย

“มีการกำหนดให้มีระบบร่วมรับผิดชอบจ่ายเมื่อป่วย สำหรับกรณีชุดสิทธิประโยชน์หลัก ต้องกำหนดเพดานร่วมจ่ายต่อปี (Annual ceiling) เพื่อลดภาระกรณีผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง นั่นหมายความว่า สามารถกำหนดให้มีระบบร่วมจ่ายได้ แม้เป็นชุดสิทธิประโยชน์หลัก เพียงแต่บอกให้มีเพดาน” นางสาวกรรณิการ์กล่าว

นางสาวกรรณิการ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างรูปธรรมความล้มเหลวของแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เช่น ตัวอย่างแรก คือ การกำหนดให้มีคณะกรรมนโยบายสุขภาพแห่งชาติ (National Health Policy Board: NHPB) หรือซุปเปอร์บอร์ด โดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการในสัดส่วน 80-20 แต่ไม่ระบุองค์ประกอบ ดังนั้น เป็นไปได้ว่าคณะกรรมการอาจมีเพียงตัวแทนจากภาคราชการ และกลุ่มผู้ใกล้ชิดที่มีที่มีหลักคิดเดียวกัน จึงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างสูงต่อการตัดสินใจที่ขาดการคำนึงและการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งอาจทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นสวัสดิการของประชาชน เปลี่ยนเป็นระบบอนาถา คือมองการจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นภาระของประเทศ

ตัวอย่างต่อมา การปรับโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขขาดความชัดเจน ในการปฏิรูประบบราชการให้เหมาะสม มีประสิทธิภาพ และลดความซ้ำซ้อนของบทบาทหน้าที่ เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นทั้งผู้กำกับติดตามนโยบาย และเป็นผู้จัดบริการ (เจ้าของ รพ.) ทำให้การกำกับติดตามไม่จริงจังเท่าที่ควร เกิดความเกรงใจคนภายในมากกว่าประชาชน ส่วนเรื่องเขตสุขภาพเป็นเพียงการถ่ายโอนภารกิจจากส่วนกลางสู่เขต โดยที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังสามารถสั่งการ และให้คุณให้โทษผู้แก่ตรวจราชการกระทรวงได้ดั้งเดิม จึงไม่ใช่การกระจายอำนาจอย่างที่ได้บอกไว้

สาม การปฏิรูปผู้จัดซื้อบริการ (purchasers) ขาดการกำหนดโครงสร้างที่สมดุลเป็นธรรม เสี่ยงต่อการกำหนดทิศทางนโยบายที่มุ่งเน้นความเห็นของคนใน โดยไม่ฟังเสียงของประชาชน มองการจัดบริการสุขภาพให้ประชาชนเป็นภาระของประเทศ ไม่ใช่การลงทุนเพื่อประชาชน ในขณะที่บริการสุขภาพของข้าราชการ กลับถูกมองว่าเป็นสวัสดิการ รวมไปถึงการร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่เสี่ยงต่อการเข้าไม่ถึงบริการ ที่เป็นการเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้มากยิ่งขึ้น

สี่ การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิก็ขาดการมีส่วนร่วมของผู้จัดบริการที่หลากหลาย เพราะมีเพียงแค่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่ไม่มี องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือหน่วยราชการสังกัดอื่น ที่เหมาะสมกับบริบทต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ และกลุ่มประชาชนทั้งจากภาครัฐนอกกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน รวมไปถึงภาคประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบที่แท้จริง

และตัวอย่างสุดท้าย คือ การพัฒนาอัตรากำลังคน ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลและรักษาสุขภาพของประชาชน ขาดรายละเอียดในการกระจายบุคลากรที่เป็นธรรม ลดระบบอุปถัมภ์ และเชื่อมโยงกับการปฏิรูประบบราชการที่เป็นรูปธรรม มุ่งเน้นประสิทธิภาพของระบบที่แท้จริง

        “หากให้ประเทศไทยเดินหน้าได้จริง ต้องหยุดคิดว่าประเทศไทยเป็นของพวกคุณเท่านั้น แต่เป็นของคนไทยทุกคนที่จะดำเนินการปฏิรูปประเทศไปด้วยกันเพื่ออนาคตที่ดีของลูกหลานสืบไป” นางสาวกรรณิการ์ กล่าว 

พิมพ์