เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ นักข่าวรายงานว่านพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความสำเร็จของระบบทันตกรรมประกันสังคมแบบ “ไม่ต้องสำรองจ่าย”
ว่า ในปี 2560 ที่ผ่านมา มียอดผู้ประกันตน ใช้บริการแล้วกว่า 1,311,927 ครั้ง สำนักงานประกันสังคมจ่ายประโยชน์ทดแทนไปแล้ว 880,981,002.78 ล้านบาท ทั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพในช่องปาก ของผู้ประกันตนรวมถึงความต้องการและความพึงพอใจ ในการเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมของผู้ประกันตน ปัจจุบันได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณี อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ให้แก่ผู้ประกันตน เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี จากเดิม 600 บาทต่อคนต่อปี
นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า สำหรับการขอรับบริการ ทันตกรรมผู้ประกันตนสามารถใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมกับสถานพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน วงเงินไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี และในปี 2561 มีจำนวนสถานพยาบาลเอกชน/คลินิกเข้าร่วมให้บริการจำนวน 1,352 แห่ง รวมถึงสถานพยาบาลรัฐทั่วประเทศ โดยสังเกตป้ายสติ๊กเกอร์ที่ระบุว่า “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม “ทำฟัน” ไม่ต้องสำรองจ่าย” กรณีผู้ประกันตนเข้ารับบริการกรณีทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ทำความตกลงเรื่องการเบิกจ่าย ผู้ประกันตนสามารถนำหลักฐานประกอบด้วย ใบเสร็จรับเงิน ใบรับรองแพทย์ พร้อมสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนมายื่นต่อสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ / จังหวัด / สาขาทั่วประเทศ มายื่นขอรับประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคมได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่เข้ารับบริการที่ระบุไว้ในใบรับรองแพทย์
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม
ภาพจาก www.sanook.com