คุ้มค่ากับการรอคอยเกือบ 2 ปี! ศาลอุทธรณ์รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีเกษตรกรเป็นโรคเนื้อเน่าจากสารพาราควอตในยาฆ่าหญ้า เรียกค่าเสียหายเจียไต๋กว่า 11.32 ล้านบาท

ภาพข่าวพาราควอต 01

ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม กรณีเกษตรกรได้รับอันตรายจากสารพาราควอตในยาฆ่าหญ้า ทำให้เป็นโรคเนื้อเน่า ต้องผ่าตัดเนื้อเน่าออก พิการ หรือเสียชีวิต เตรียมประกาศหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากยาฆ่าหญ้ายี่ห้อ ก๊อกโซน จะเป็นสมาชิกกลุ่มอัตโนมัติ มีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้ เบื้องต้นเรียกค่าเสียหายกับบริษัท เจียไต๋ รวมประมาณ 11.32 ล้านบาท ศาลนัดสืบประเด็นต่อในวันที่ 28 มกราคม 2565

          จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ผู้ได้รับเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ จำนวน 16 ราย ยื่นฟ้องคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต ให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัท เจียไต๋ จำกัด บริษัทผู้นำเข้าและจำหน่ายสารเคมีเกษตรรายใหญ่ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ เนื่องจากมีสารพาราควอตเป็นส่วนผสมซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า บางรายต้องผ่าตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก แล้วผ่าตัดเนื้อส่วนอื่นไปปลูกถ่ายแทน บางรายต้องตัดขา เป็นสารอันตรายที่ประเทศไทยประกาศแบนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม จนเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้น

          วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้ายื่นขออนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เพราะมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งคนอื่นๆ ในจังหวัดและคนในพื้นที่อื่นทั่วทั้งประเทศ ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสินค้าดังกล่าว ในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกัน การนำสืบที่แตกต่างกัน ทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา และศาลยังเห็นว่า การประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก และอาจมีค่าใช้จ่ายมากกว่ากาปรับปรุงการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ศาลมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการปฏิบัติตามคำพิพากษาในคำพิพากษาหรือในคำสั่งภายหลังก็ได้

          นางสาวณัฐวดี กล่าวอีกว่า หลังจากได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ต่อมาต้องวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อที่จะประกาศคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มให้แก่สมาชิกกลุ่มทราบทางหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ คนที่เข้าข่ายตามนิยามของสมาชิกกลุ่มจะเป็นสมาชิกกลุ่มโดยอัตโนมัติ ซึ่งสมาชิกกลุ่มในคดีนี้คือ ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้าของจำเลยซึ่งมีสารพาราควอตไดคลอไรด์ผสมอยู่ มีชื่อทางการค้าว่า ก๊อกโซน ไม่จำกัดว่าอยู่ที่ใดในประเทศ และสมาชิกกลุ่มที่ไม่ต้องการผูกพันตามผลของคำพิพากษา สามารถออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มได้ โดยแจ้งความประสงค์เป็นหนังสือยื่นต่อศาล และหากศาลมีผลคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี สมาชิกกลุ่มมีสิทธิยื่นขอรับชำระหนี้ได้

          ส่วนการเรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท เป็นค่ารักษาพยาบาลตามจริง ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต 300,000 บาท ค่าขาดรายได้วันละ 1,500 บาท ค่าทำให้เสียโฉมติดตัว 200,000 บาท ค่าความเสียหายที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติสุขทางด้านร่างกายและจิตใจ 200,000 บาท ค่าเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และเสียชีวิตรายละ 2,000,000 บาท ซึ่งการเรียกค่าเสียหายของสมาชิก แต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามความเสียหายที่เกิดขึ้น

          นายมานะ เมืองคุณ ผู้แทนผู้เสียหายจากสารพาราควอตในยาฆ่าหญ้า กล่าวว่า เกษตรกรใช้ยาฆ่าหญ้ายี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีพาราควอตเป็นส่วนผสม ทำให้เกิดเหตุการณ์รุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก บางคนทำอะไรไม่ได้ในระยะเวลาที่ป่วย ลูกหลานต้องออกจากงานเพื่อมาดูแล เป็นหนี้เป็นสิน มีทั้งคนที่ขาขาด พิการ หรือถึงขั้นเสียชีวิต ตัวแทนชาวบ้านจึงไปปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อหาทนายมาฟ้องคดี เพราะเกษตรกรฟ้องคดีกันเองไม่ได้ ได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มกับบริษัทที่นำเข้าและจำหน่าย เพราะผู้เสียหายมีหลายคน ขั้นแรกศาลชั้นต้นไม่รับเป็นคดีกลุ่ม และในที่สุดเมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม นับตั้งแต่ยื่นฟ้องช่วงเดือนธันวาคม 2562 ใช้เวลาในชั้นของการอนุญาตดำเนินคดีกลุ่มเป็นเวลาเกือบ 2 ปี

          ตอนที่รู้ว่าศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ชาวบ้านที่ดีใจจนพูดไม่ออกเลย ศาลอาจจะเห็นว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจริงๆ และกำลังอยู่ในกระบวนการวางเงินค่าลงประกาศหนังสือพิมพ์ให้กับศาลภายใน 7 วัน ต่อมาจะมีการนัดหารือในการไต่สวนของโจทก์และจำเลย ฝ่ายโจทก์ต้องเตรียมเอกสารและข้อมูล เพื่อพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ในระยะเวลาที่ผ่านมา และศาลนัดสืบประเด็นต่อในวันที่ 28 มกราคม 2565

สามารถอ่านเรื่องเกี่ยวกับพิษพาราควอตเพิ่มเติมจากบทความ "แผ่นดินอาบยาพิษ เรื่องจริงของ “พาราควอต” จากหนองบัวลำภู" https://www.chaladsue.com/article/2988

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ฟ้องคดีแบบกลุ่ม, พาราควอต, คดีกลุ่ม, ยาฆ่าหญ้า

พิมพ์ อีเมล