เอฟทีเอ ว็อทช์ ชี้ รัฐบาลสุ่มเสี่ยงผิดรัฐธรรมนูญ หากทำตามกรมเจรจาฯ เดินหน้า เอฟทีเอกับสหภาพยุโรป

เขียนโดย กรรณิการ์ กิตติเวชกุล วันที่ . จำนวนผู้ชม: 3204

จากการที่ ความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนเป็นประเด็นใหญ่ในการประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป (อาเซ็ม) และ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แจ้งต่อประธานนายจูเซ มานูเอล บาโรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป(อียู) ว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากได้แก้ไขอุปสรรคภายในเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และพร้อมเปิดการเจรจาต้นปีหน้านั้น

 

 

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มองว่า ขณะนี้มีสถาบันวิชาการชั้นนำในยุโรปทำบทวิเคราะห์ที่ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปส่งผลให้สหภาพยุโรปมีท่าทีทางการค้าที่เปลี่ยนไปอย่างมาก อีกทั้งขนาดเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่หดตัวลงทำให้ผลประโยชน์ที่ประเทศคู่เจรจาจะได้จากการทำเอฟทีเอนั้นลดตามไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของดร ศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ UNCTAD ก่อนหน้านี้  ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือการจัดทำร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอของกระทรวงพาณิชย์ยังใช้ผลการศึกษาประเมินผลดีผลเสียก่อนเกิดวิกฤติยูโรโซน ซึ่งไม่สามารถอธิบายความเป็นจริงในภาวการณ์ปัจจุบันได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรเร่งประเมินผลดีผลเสียใหม่ที่รอบด้านและเป็นปัจจุบันโดยเร็วที่สุด

 

นอกจากนี้ประเด็นแหลมคมอย่างยิ่งคือเรื่องกระบวนการ หากรัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปนั้น สมควรดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตรา 190 วรรค 3 ที่กำหนดให้ “คณะรัฐมนตรีจะต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน” เพื่อให้การเจรจาการค้าเป็นประโยชน์กับประเทศและสังคมในวงกว้างอย่างแท้จริง

 

“จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังมิได้ดำเนินการถูกต้อง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมิใช่เป็นอุปสรรคหรือเป็นเรื่องยากอย่างไรทั้งสิ้น แต่เป็นการรับรองให้การเจรจาการค้าเป็นประโยชน์กับประเทศและสังคมในวงกว้างอย่างแท้จริง โดยไม่ปล่อยให้ผลได้กระจุกอยู่ในวงจำกัด แต่ผลเสียกระจายอย่างที่เคยเป็นมา

 

ในความเป็นจริง กิจกรรมที่กรมเจรจาฯได้จัดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2553 แม้เป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ไม่ได้มีการให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น การออกความคิดเห็นของประชาชนจึงไม่สามารถสะท้อนท่าทีของรัฐบาลหรือเนื้อหาในกรอบการเจรจาได้ นอกจากนี้การจัดประชุมกลุ่มย่อย หรือ โฟกัส กรุ๊ป โดยกรมเจรจาฯ เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แม้มีการนำร่างท่าทีของทางกรมฯ มาหารือ แต่ก็ไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นการรับฟังความเห็นประชาชน เนื่องจากเป็นการจัดลักษณะวงย่อยเฉพาะกลุ่ม แจ้งล่วงหน้าอย่างกระชั้นชิด ที่สำคัญคือกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญ เช่น ในประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ ยังไม่ได้มีการหารือแต่อย่างใด

 

ดังนั้น หากรัฐบาลพิจารณาร่างกรอบการเจรจาฯ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณาโดยไม่นำร่างดังกล่าว มารับฟังความคิดเห็นประชาชน ก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเข้าข่ายการดำเนินการขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะนำมาซึ่งความเสียหายต่อรัฐบาลเอง และประเทศชาติในที่สุด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนที่สุดคือการนำร่างกรอบการเจราฯ มาจัดรับฟังความคิดเห็นประชาชน ก่อนเสนอต่อรัฐสภา ซึ่งจะไม่ทำให้เสียเวลาแต่ประการใด” ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์กล่าว

 

ทางด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเด็นเนื้อหา โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับการเข้าถึงยาที่จะส่งผลกระทบต่องบประมาณของประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ล้านบาท

 

“กรมเจรจาฯในฐานะเลขาฯฝ่ายเตรียมการเจรจา ไม่อ้างอิงความรู้และผลงานวิชาการใดๆ ในการจัดทำท่าที และยังพยายามกีดกัน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความรู้โดยตรงเข้าร่วมจัดทำท่าที”

 

ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งในวันพรุ่งนี้ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาจะพิจารณาเรื่องนี้

พิมพ์