วงเสวนาชำแหละ ‘ภัยบิ๊กไบค์กับวัยรุ่น’ แนะออกใบอนุญาตขับขี่บิ๊กไบค์อายุ 22 ปี ขึ้นไป ควบคู่ฝึกทักษะสร้างความปลอดภัยการขับขี่

news pic 11112020 bigbike 1

วงเสวนาชำแหละ ‘ภัยบิ๊กไบค์กับวัยรุ่น’ เจ็บตายเพียบ! อึ้งเยาวชน 10 - 24 ปี เสียชีวิตบนท้องถนนถึง 70 % ด้าน ‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ชี้ ปมปัญหาสองล้อเต็มถนนเหตุระบบขนส่งมวลชนล้มเหลว - พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกมีรถโดยไม่คำนึงถึงอายุและอุปกรณ์ป้องกัน แนะออกใบอนุญาตขับขี่บิ๊กไบค์อายุ 22 ปี ขึ้นไป ควบคู่การฝึกทักษะสร้างความปลอดภัยการขับขี่

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต จัดเวทีเสวนา “เยาวชนกับบิ๊กไบค์ในกฎกระทรวงใหม่...ได้หรือเสีย” ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)  

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยเป็นธรรม มพบ. กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนในปี 61 พบว่า เด็กเยาวชนช่วงอายุ 10 - 24 ปี มีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 70.6 โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมของผู้ขับขี่ ปัญหากายภาพโครงสร้างพื้นฐานของถนน ความไม่เข้มงวดของกฎหมาย และสาเหตุที่สำคัญ คือ ปัญหาระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ตอบโจทย์ความจำเป็นในการเดินทาง ส่งผลให้ทางเลือกในการเดินทางมีอย่างจำกัด เช่น ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ไม่สะดวก หรือ ทำให้นักเรียนต้องเดินทางโดยใช้จักรยานยนต์แทน โดยเฉพาะการเข้าถึงรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ หรือ “บิ๊กไบค์” ที่ง่ายและสะดวกมากขึ้น ขณะที่กลไกควบคุมของรัฐเองยังกำกับได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะกฎกระทรวงใบอนุญาตขับขี่ฉบับใหม่ที่ตั้งใจออกมาเพื่อควบคุมปัญหารถบิ๊กไบค์ แต่กลายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขอใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวที่อาจจะไม่มีประสบการณ์ เข้าถึงรถบิ๊กไบค์ได้ง่ายขึ้น อีกทั้งกลไกของรัฐยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มรถขนาดใหญ่ที่มีเครื่องยนต์ตั้งแต่ 250 ซีซี - 399 ซีซี ที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมของกลุ่มเด็กและเยาวชนเช่นเดียวกัน208482

“รัฐควรจัดการที่ต้นทาง โดยกำหนดนิยามรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ และกำหนดเกณฑ์อายุสำหรับผู้ขอใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ให้สอดคล้องกับขนาดกำลังเครื่องยนต์ (CC) เช่น ผู้ขอใบอนุญาตบิ๊กไบค์ ควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 22 ปี และไม่ควรให้ผู้ขอใบอนุญาตชั่วคราวมีสิทธิขับรถบิ๊กไบค์ได้ รวมถึงกำหนดประเภทใบอนุญาตจักรยานยนต์ในแต่ละขนาดเครื่องยนต์หรือขนาดความจุของกระบอกสูบให้เหมาะสมกับปัจจุบัน เช่น 110cc+ 250cc+ หรือ 400 cc+ ขึ้นไป ดังนั้น กฎกระทรวงที่เพิ่งออกมาจึงต้องชัดเจนและครอบคลุมเรื่องนี้ด้วยเพื่อให้ปัญหาเยาวชนกับรถบิ๊กไบค์ได้รับการแก้ไขจริงจัง” นายคงศักดิ์ กล่าว

208483

ด้าน รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ได้ทำโครงการ ‘สืบหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์’ โดยใช้เทคนิคการสืบสวนเชิงลึก จากการสำรวจ 1,000 ตัวอย่าง ในระยะเวลา 4 ปี พบว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากตัวบุคคล ร้อยละ 90 เกิดจากคนขับขี่รถจักรยานยนต์และคนขับขี่รถคันอื่น แบ่งออกเป็น อันดับหนึ่ง คือ การคาดการณ์สถานการณ์ที่ผิดพลาด รองลงมาคือ การตัดสินใจที่ผิดพลาด ตามด้วยการควบคุมรถที่ผิดพลาด และท้ายสุดคือ การเข้าใจผิดพลาด นอกจากนี้ จากข้อมูลเชิงลึกยังพบว่า กรณีของผู้ขับขี่รถบิ๊กไบค์ ยิ่งใช้ความเร็วมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง และมีโอกาสรอดชีวิตน้อย เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินแม้ผู้ขับขี่มีทักษะ แต่ถ้าขับขี่ด้วยความเร็วสูงระยะการตัดสินใจหลบหลีกจะแคบมาก ส่วนการแก้ไขปัญหาหรือลดการเกิดอุบัติเหตุต้องเน้นปลุกจิตสำนึกทั้งสองฝ่าย ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขเชิงระบบอย่างจริงจัง พร้อมออกมาตรการควบคุมให้เยาวชนมีพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัย ฝึกทักษะเรียนรู้กฎจราจร วิธีขับขี่บนท้องถนน รวมถึงผู้ที่ขับขี่บิ๊กไบค์ที่ต้องมีทักษะการขับขี่ที่ปลอดภัย มีใบขับขี่ เรียนรู้กฎจราจร ควบคู่กันไปด้วย

ส่วน วีรวิชญ์ ช้างแรงการ บรรณาธิการบริหารบริษัท ไรเดอร์ คลับแมก จำกัด กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ พบว่า ด้วยวัยของเยาวชนที่อายุไม่เกิน 20 ปี จะค่อนข้างมีความมั่นใจ มีความกล้า ซึ่งหากไม่ถูกปลูกฝังการเรียนรู้อบรมเพื่อที่จะป้องกันตัวเองในการขับขี่ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก ขณะเดียวกันมองว่ารัฐไทยมีความหละหลวมไม่คุมเข้มในเรื่องออกใบขับขี่ หากเทียบกับต่างประเทศการได้ใบขับขี่มาถือว่ายากมาก ไม่ใช่เรื่องง่าย และในต่างประเทศยังให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมเพื่อรู้จักการใช้รถให้ปลอดภัย
208485

ถ้าหากรัฐเห็นความสำคัญและร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจังก็จะเกิดประโยชน์ให้กับเด็กเยาวชนที่ใช้รถประเภทนี้มาก แต่ต้องยอมรับว่าคนไทยมีนิสัยประณีประนอม จนทำไม่มีมาตรฐานและไม่ยึดตามกฎหมาย ทั้งที่ในยุคนี้รถถูกออกแบบมาให้ช่วยคนได้มากมายถ้าได้เรียนรู้อบรม นอกจากนี้อยากเสนอให้รัฐบาลเอาจริงเอาจังแก้ปัญหาให้ตรงจุด เช่น คนที่จะขี่บิ๊กไบค์ต้องมีประสบการณ์ ระบุไปให้ชัดเจนว่าต้องมีใบขับขี่มาแล้วกี่ปี ผ่านการทดสอบ หรือภาคปฏิบัติมาจำนวนเท่าไรแล้ว” วีรวิชญ์ กล่าว

208484

ขณะที่ ฐาปกรณ์ ปิ่นพงศ์พันธ์ ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนนจากรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ กล่าวว่า ตัวเองเคยประสบอุบัติเหตุรถบิ๊กไบค์ 3 ครั้ง ซึ่งมองว่าสาเหตุหลักมาจากวินัยของผู้ขับขี่ ถ้าทุกคนปฏิบัติตามกฎจราจร อุบัติเหตุจะเกิดน้อยมาก สังคมอาจมองว่าความเร็วเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ แต่ตัวเองกลับมองว่าวินัยและทักษะการขับขี่เป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ ยิ่งผู้ขับขี่บิ๊กไบค์เป็นเยาวชน ยิ่งต้องเข้มงวดในเรื่องทักษะการขับขี่ ดังนั้น เมื่อรัฐมีนโยบายบังคับใช้ใบขับขี่บิ๊กไบค์ รัฐต้องคัดกรองผู้ขับขี่โดยเฉพาะเยาวชนด้วยการจับมือกับภาคเอกชนหรือศูนย์อบรมผู้ขับขี่บิ๊กไบค์ เพื่อนำทักษะจากการอบรมมาใช้ทดสอบสมรรถนะการขับขี่บิ๊กไบค์ ส่วนสนามสอบภาคปฏิบัติต้องมีถนนรองรับการทดสอบความเร็ว ที่สำคัญเอกสารประกอบการขอใบขับขี่ควรมีใบรับรองการผ่านการอบรมด้วย

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, รถจักรยานยนต์, รถมอไซค์, มอเตอร์ไซค์, บิ๊กไบค์, อุบัติเหตุ, เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต

พิมพ์ อีเมล