‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ เปิดใจยินดีให้ทุกฝ่ายตรวจสอบ พร้อมเดินหน้าทำหน้าที่ตัวแทนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทุกด้าน เตือนศรีสุวรรณ หยุดปั่นกระแสสังคม สร้างความไม่ไว้วางใจต่อสภาฯ
ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคที่ร่วมมือกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคโดยครั้งแรกที่อ้างว่า หากประเทศไทยมีองค์กรผู้บริโภคมากถึง ๑๕๒ องค์กร ปัญหาผู้บริโภคน่าจะหมดไป แต่หากจะเทียบเคียงกับปัญหาอื่นๆ หรือปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่คุณศรีสุวรรณ ทำงานมานาน ก็ยังมีปัญหาไม่น้อย
ครั้งที่สองได้นำเครือข่ายสื่อมวลชนปกป้องผลประโยชน์ชาติร้องเรียนการรวมตัวขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภค
ครั้งนี้ ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ รมว.ยุติธรรม เพื่อขอให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค ๑๕๒ องค์กรที่เข้าชื่อกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น
ความพยายามในการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคทุกวิถีทางของนายศรีสุวรรณที่เป็นไปอย่างผิดสังเกต ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เริ่มตั้งคำถามต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของนายศรีสุวรรณว่า นี่เป็นการตรวจสอบด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือมีเบื้องหลังที่จงใจยุยงปลุกปั่นกระแสสังคมให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อสภาฯ ในวงกว้าง
สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ต้องการให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และได้มีการผลักดันและรณรงค์เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ ๖๐ จนเกิดพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒
ส่วนการตรวจคุณสมบัติองค์กรของผู้บริโภคเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนกลางโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีขั้นตอนให้สามารถร้องคัดค้านองค์กรผู้บริโภคได้ตามมาตรา ๘ ผู้ใดเห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา ๖ มีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรา ๕ ให้มีสิทธิยื่นคำคัดค้านพร้อมทั้งหลักฐานต่อนายทะเบียนกลาง
เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยโดยเร็ว ในกรณีที่เห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคนั้นมีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรา ๕ ให้เพิกถอนการรับแจ้ง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องและองค์กรของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องทราบ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนกลางให้เป็นที่สุด นายศรีสุวรรณ เป็นนักกฎหมายควรต้องทราบขั้นตอนตามกฎหมายเหล่านี้ดี แต่กลับดำเนินการสร้างข่าวทำให้เกิดความสับสน จนทำให้ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจผิดว่า การได้มาของสภาฯ ไม่โปร่งใส ย่อมเป็นเหมือนการกลั่นแกล้งและสร้างความเสียหายให้กับสภาองค์กรของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ทั้งที่การตรวจสอบคุณสมบัติองค์กรของผู้บริโภคที่ผ่านจดแจ้งทั้งหมดใช้เวลามากกว่า ๑ ปี จนมีองค์กรผู้บริโภคจำนวน ๑๕๑ องค์กร ผ่านการจดแจ้งความเป็นองค์กรของผู้บริโภค เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๓ และร่วมมือจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีประกาศให้สามารถจัดตั้งได้สำเร็จเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ หากนับจากวันแรกที่ให้เริ่มจดแจ้งความเป็นองค์กรของผู้บริโภคนับเป็นเวลามากกว่า ๑๘ เดือน นับตั้งแต่วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา
การตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคในการปฏิบัติหน้าที่ ของบุคคลหรือองค์กรใด เป็นเรื่องปกติที่สามารถดำเนินการได้ โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคยินดี แต่ไม่ใช่การดำเนินการให้เกิดความเสียหายเช่นนี้ หรือทำให้เสียเวลาในการทำหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภค
โดยกฎหมายระบุให้สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องจัดให้ประชาชนหรือผู้บริโภคทั่วไป สามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้ในการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และสภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อทราบ
นอกจากนี้ ทุกสามปี สภาองค์กรของผู้บริโภคต้องจัดให้มีการประเมินผล การดำเนินงาน ด้านประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การพัฒนาสภาองค์กรของผู้บริโภค และการสนับสนุนจากประชาชน
ปัจจุบัน สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มีการดำเนินการจัดทำข้อเสนอนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง พร้อมรณรงค์เผยแพร่ใน ๕ ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่
๑) ข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร ในการจัดบริการขนส่งมวลชน กรณีรถไฟฟ้าหลากสีให้ถือว่าบริการรถไฟฟ้าหลากสีเป็นบริการขนส่งมวลชนพื้นฐานสำคัญในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ทุกคนขึ้นได้ มีเป้าหมายระยะยาวในการกำหนดราคาไม่เกินร้อยละ ๑๐ ของรายได้ขั้นต่ำของประชาชน ส่วนกรณีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ขอให้คณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบในการต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียวล่วงหน้า พร้อมจัดประมูลการบริการเดินรถหลังปี พ.ศ. ๒๕๗๒ โดยมีเงื่อนไขสำคัญในการให้บริการตามคุณภาพมาตรฐานสากล และให้เอกชนที่เสนอราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เกิน ๒๕ บาทได้รับการสัมปทานเดินรถ
๒) ข้อเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และกระทรวงพลังงาน ในการสร้างแรงจูงใจและลดอุปสรรคของประชาชนในการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์
๓) ข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP จนกว่าการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบด้านบวกและด้านลบแล้วเสร็จ พร้อมเสนอให้ใช้มาตรการอื่นๆ ในการสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคในประเทศ เช่น Regulatory Guillotine (RG) ทบทวนกฎหมายที่บังคับใช้ อยู่ในปัจจุบัน เพื่อลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก สร้างภาระต่อการปฏิบัติ โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เท่าทันนวัตกรรมใหม่ๆ และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของโลก
๔) ข้อเสนอต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ให้จัดทำข้อเสนอการแก้ไขปัญหาวิกฤติของผู้บริโภคที่ยากจนและเกษตรกรซึ่งเป็นปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม
และ ๕) ข้อเสนอต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ให้ยุติการออกประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่
ทั้งนี้ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยมีการตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าระวัง รวมทั้งการศึกษาสถานการณ์ปัญหาที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคเพื่อเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่กระทบต่อสิทธิผู้บริโภคเป็นภารกิจที่มีการดำเนินงานร่วมกับองค์กรและเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการเตรียมการเพื่อสนับสนุนการฟ้องคดีเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานประจำจังหวัด อีกทั้งมีการเผยแพร่ เตือนภัย สื่อสารสาธารณะเพื่อทำให้ประชาชนตื่นตัวในการคุ้มครองสิทธิและเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันข้อเสนอที่สำคัญผ่านในหลากหลายช่องทางด้วย