มพบ. เปิดแฟ้มคดี 61 ช่วยเหลือผู้บริโภคได้กว่า 111 ล้านบาท

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 3535

coolcase news pic

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลงานดำเนินคดีช่วยเหลือผู้บริโภค กว่า 111 ล้านบาท พร้อมเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้สามารถป้องกันปัญหาผู้บริโภคได้ 

           วันนี้ (18 ธันวาคม 2561) ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จัดแถลงข่าว ‘เปิดแฟ้มคดีดัง ถอดบทเรียนจากการฟ้องคดีของ มพบ.’ โดยมีการเปิดเผยจำนวนคดีที่ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ตั้งแต่ปี 2548 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 577 คดี โดยประเภทคดีที่ให้ความช่วยเหลือมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ คดีช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุบัติเหตุจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ จำนวน 207 คดี คดีผู้บริโภคเกี่ยวกับนิติกรรมสัญญาต่างๆ จำนวน 181 คดี และคดีผู้บริโภคเกี่ยวกับธุรกิจประกัน จำนวน 61 คดี

ทั้งนี้ เมื่อดูเฉพาะข้อมูลปี 2561 พบว่า มพบ. ได้ให้ความช่วยเหลือด้านคดี จำนวน 26 คดี ซึ่งมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จำนวน 17 คดี รวมเป็นมูลค่าความช่วยเหลือ 111,155,797 บาท แบ่งเป็นมูลค่าการเยียวยา จำนวน 23 ล้านบาท และไม่ต้องจ่ายในกรณีถูกฟ้องคดี จำนวน 87 ล้านบาท โดยมี 1 คดี ที่ศาลไม่อนุญาตให้ฎีกา

PKai

นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า จากการช่วยเหลือผู้บริโภคด้านคดีในปีที่ผ่านมา พบว่า มีหลายคดีที่ประสบความสำเร็จ และถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานการตัดสินคดีอื่นๆ ทั้งเรื่องการเยียวยาความเสียหายเชิงลงโทษ จากคดีรถยนต์ตู้โดยสารจังหวัดจันทบุรีและเรื่องแนวทางในการตัดสินคดีที่ผู้บริโภคถูกฟ้องเป็นจำเลยจากการใช้สิทธิของตัวเอง เช่น คดีมาสด้า 2 และคดีเสื้อยืด‘คายมาจิ’ (ดาวน์โหลดรายละเอียดคดีดัง 2561 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ที่นี่ : รายงานคดี'61)

อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่กลับพบปัญหาในการชดเชยเยียวยา ซึ่งมีทั้งกรณีที่ต้องบังคับคดีไปยึดหรืออายัดทรัพย์สิน จึงจะได้รับเงินชดเชยความเสียหายตามคำพิพากษา เช่น คดีฟ้องบขส. หรือขสมก. และคดีที่ไม่สามารถบังคับคดีได้ ผู้บริโภคจึงยังไม่ได้รับการเยียวยา อย่างคดีฟ้องกทม. เรื่องการอนุญาตให้สร้างอาคารสูงผิดกฎหมายในซอยร่วมฤดี ที่ยังไม่ดำเนินการรื้อถอน แม้จะมีคำพิพากษามา 4 ปี แล้ว ซึ่งมองว่าผู้ประกอบการหรือหน่วยงานควรแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคโดยไม่ต้องให้บังคับคดี และหากมีการบังคับคดี ควรมีการกำหนดกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน

นายเฉลิมพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ คือ คดีประพฤติมิชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท. ที่ศาลยกฟ้องเพราะเหตุว่ามพบ. ไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่สามารถฟ้องคดีได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนอุทธรณ์ เนื่องจากมพบ. มองว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศ จึงคาดหวังว่ามพบ. จะสามารถเป็นผู้เสียหายฟ้องคดี เพื่อป้องปรามการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ

PToTo2

สำหรับเรื่องการฟ้องคดีแบบกลุ่ม นางสาวศรินธร อ๋องสมหวัง ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมามพบ. ฟ้องคดีกลุ่ม 3 คดี ได้แก่ คดีเครื่องสำอางอันตราย ‘เพิร์ลลี่’ คดีกระทะโคเรียคิง และคดีปัดเศษค่าโทรวินาที โดยข้อสังเกตเกี่ยวกับการฟ้องคดีแบบกลุ่ม คือ มีการกำหนดความหมายของ “สมาชิกกลุ่ม” ที่แตกต่างกัน ระหว่างคดีที่ดำเนินการโดยมพบ. กับภายนอก ว่า “สมาชิกกลุ่ม” หมายถึงผู้ฟ้องคดีเท่านั้น หรือผู้เสียหายจากผลิตภัณฑ์นั้นทั้งหมด ทั้งนี้ มพบ. คาดหวังว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคทั้งหมด เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย

PTo

นายวชิร พฤกษ์ไพบูลย์ ทนายความทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ.
กล่าวถึงปัญหาของการทำคดีทางการแพทย์ว่า พบความยุ่งยากเรื่องพยานที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเอกสารเวชระเบียนที่อยู่กับโรงพยาบาลฝ่ายเดียว ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้อมูลในเวชระเบียนตรงกับการรักษาตอนที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาหรือไม่ นอกจากนี้ กระบวนการของศาลที่กำหนดประเด็นให้ผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ฟ้องสืบพยานก่อน ก็สร้างความยุ่งยากและเป็นการผลักภาระให้กับผู้เสียหาย ทั้งที่ควรเป็นฝ่ายจำเลยสืบพยานก่อนเพื่อให้ผู้เสียหายแก้ต่าง

PPumcase

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องพรรคการเมืองทุกพรรค ให้มีนโยบายสำคัญในการสนับสนุนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ให้มีสภาผู้บริโภคแห่งชาติ หรือสภาพลเมือง เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวแทนในการมีส่วนร่วมตัดสินใจรักษาผลประโยชน์ผู้บริโภคและมีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้นในทุกระดับ นอกจากนี้ทุกพรรคการเมืองควรมีรูปธรรมการลดความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจน เช่น เพิ่มงบบัตรทอง ปรับระบบบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานเดียว สนับสนุนให้ประชาชน มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สำคัญ เช่น บำนาญผู้สูงอายุ หรือบำนาญประชาชน เรียนฟรีทั้งในระบบและนอกระบบ โดยผ่านการจัดลำดับการใช้งบประมาณแผ่นดินในปัจจุบัน

ทั้งนี้ หากอยากมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อช่วยสร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อนโยบายสาธารณะของประเทศ ร่วมบริจาคผ่านบัญชี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (2) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขางามวงศ์วาน เลขที่บัญชี 319 - 2 - 62123 – 1 หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org

QR SCB Promptpay FFC 2 01

ชื่อบัญชี: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(2)

หมายเลข Prompt Pay 0993000203941

ร่วมติดตาม Facebook LIVE :: แถลงข่าว 'เปิดแฟ้มคดีดัง ถอดบทเรียนจากการทำคดีของ มพบ.' ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, คดีผู้บริโภค, ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค61

พิมพ์