หยุด!!! “โรคอ้วน” ในเด็กไทย ด้วยฉลากโภชนาการ “แบบสัญญาณไฟจราจร”

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 15111

banner TrafficLightLabel


เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความรู้เรื่องโภชนาการที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะความเข้าใจในการอ่าน “ฉลากโภชนการ”

 

WgawGDMa

ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องมือที่ช่วยให้เราทราบได้ว่ากำลังรับประทานอะไรอยู่ อาหารที่เรารับประทานมีสัดส่วนของสารอาหารต่างๆ ในปริมาณเท่าไหร่ ซึ่งฉลากโภชนาการที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันยังยากต่อการอ่าน ตัวหนังสือมีขนาดเล็ก มีผู้บริโภคจำนวนมากที่อ่านฉลากโภชนการไม่เป็น ไม่เข้าใจ ที่สำคัญเคยมีการสำรวจพบว่ามีผู้บริโภคเพียงแค่ 10% เท่านั้น ที่ใช้ข้อมูลโภชนาการในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร

การปรับปรุง “ฉลากโภชนาการ” ให้อ่านง่ายขึ้น เป็นมิตรกับผู้บริโภค และช่วยให้ผู้บริโภคได้รู้ข้อมูลของสารอาหารสำหรับประกอบการตัดสินใจเลือก ซื้ออาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวที่มีกลุ่มผู้บริโภคหลัก คือ “เด็ก” จึงมีความจำเป็นและเร่งด่วน

จากข้อมูล “รายงานสุขภาพคนไทย 2557” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าสถานการณ์เด็กไทยอายุระหว่าง 1 – 14 ปี ประมาณ 1 ใน 10 คน มีภาวะ “น้ำหนักเกิน” ขณะที่ภาพรวมของคนไทยทั้งประเทศ พบว่ากว่า 1 ใน 3 ของคนไทย มีภาวะน้ำหนักเกินเช่นกัน  โดยในระยะ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2534-2552) คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีอัตราของภาวะน้ำหนักเกินเพิ่มขึ้น 2 เท่า (จาก 17.2% เป็น 34.7%) และภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า (จาก 3.2% เป็น 9.1%)

ภาวะน้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน ส่งผลต่อความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายแรงโดยเฉพาะโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อ เรื้อรัง (Non-communicable Diseases: NCDs) ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี ภาวะหายใจลำบากและหยุดหายใจขณะหลับ และภาวะกรดยูริกสูง โรคเกาต์ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนมีภาวะน้ำหนักเกิน คือปัญหาจากโภชนาการที่เหมาะสม การรับประทานอาหารที่สารอาหารที่ทำให้เกิดภาวะอ้วนมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็น “พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม” ซึ่งสารอาหารกลุ่มนี้มีมากในอาหารจำพวก ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม

แม้ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการบังคับใช้ฉลากโภชนการอย่าง อย. จะมีการประกาศใช้ฉลาก “GDA (Guideline Daily Amounts)” หรือ ฉลาก “หวาน มัน เค็ม” กับผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว 5 ชนิด แต่ฉลาก GDA ก็ยังยากต่อการทำความเข้าใจของผู้บริโภค ยังสื่อสารเรื่องของปริมาณสารอาหารที่เหมาะสมในการบริโภคให้ผู้บริโภคเข้า ได้ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะสารอาหาร 4 ประเภท คือ “พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม (เกลือ)” ถือเป็นสารอาหารที่มีผลทำให้เกิดภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน หากรับประทานในปริมาณมากเกินไป ซึ่งเมื่อดูขนมขบเคี้ยวต่างๆ ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไปล้วนแต่มีปริมาณ สารอาหารเหล่านี้ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง

การใช้ฉลากโภชการแบบ “ฉลากสัญญาณไฟจราจร” จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เพราะง่ายในการสื่อสารและทำความเข้าใจของผู้บริโภค ด้วยวิธีการใช้ “สี” เป็นตัวสื่อถึงปริมาณที่เหมาะสมในการบริโภค ปริมาณที่อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ

โดยจะใช้ “สีเขียว” แสดงถึงปริมาณสารอาหารที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ “รับประทานได้”

“สีเหลือง” แสดงปริมาณสารอาหารที่ค่อนข้างสูง กินได้แต่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง “ควรรับประทานแต่น้อย”

และสุดท้าย “สีแดง” แสดงถึงปริมาณสารอาหารที่สูง กินแล้วอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ “ควรหลีกเลี่ยงในการรับประทาน”

โดยจะใช้ฉลากสัญญาณไฟจราจรแสดงแทนปริมาณสารอาหาร 4 ประเภท คือ พลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม (เกลือ) ซึ่งการใช้ฉลากโภชการแบบ “ฉลากสัญญาณไฟจราจร” จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจฉลากโภชนาการได้ง่ายขึ้น รู้เลือกกินอาหารทีจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของตัวเอง ที่สำคัญเด็กๆ ก็มีเครื่องมือให้พวกเขาได้เลือกอาหารที่เป็นประโยชน์และไม่ทำลายสุขภาพได้ ด้วยตัวเอง  นจอกจากนี้ฉลากโภชการแบบ “ฉลากสัญญาณไฟจราจร” ยังทำหน้าที่กระตุ้นให้ผู้ผลิตอาหาร โดยควบคุมสารอาหารต่างๆ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริโภค ไม่ให้มีสัญลักษณ์สัญญาณไฟจราจร “สีแดง” อยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารของตัวเอง

banner TrafficLightLabel

พิมพ์