ข่าว/บทความรถโดยสาร

เจาะลึก ! รถโดยสารสองชั้น ตอนที่ 2

จำนวนผู้ชม: 6011

 

แม้ว่าประเด็นความเสี่ยงในความไม่ปลอดภัยของรถโดยสารสองชั้น จะเป็นข้อถกเถียงกันระหว่างกลุ่มนักวิชาการและกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจว่า จริงๆแล้วรถโดยสารสองชั้นมีความปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัยกันแน่  ทั้งที่รถโดยสารสองชั้นที่วิ่งกันทุกวันนี้ ล้วนผ่านการรับรองการใช้งานจากกรมการขนส่งทางบกมาแล้วทุกคัน 

busep2

 

           แต่ด้วยความสูงของรถโดยสารสองชั้นที่สูงมากถึง 4.30 เมตร ในทางวิศวกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งของความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ ยิ่งหากมีปัจจัยความประมาทเลินเล่อของคนขับ และปัจจัยเสี่ยงจากสภาพถนนโค้ง ลาดชัน หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยรวมกันแล้ว ย่อมมีส่วนทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่ายขึ้นแม้จะไม่ได้ใช้ความเร็ว

           จากความสูญเสียในหลายๆครั้งที่เกิดขึ้น จึงเป็นที่มาของการกำหนดมาตรการป้องกันสำหรับรถโดยสารสาธารณะโดยเฉพาะรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูงเป็นปัจจัยเสี่ยง คือ การทดสอบการทรงตัว หรือที่เรารู้จักกันว่า การทดสอบความลาดเอียง 30 องศานั่นเอง เพื่อให้มีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงขึ้นและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการ

เริ่มแรกในปี 2555 กรมการขนส่งทางบกได้ออกประกาศกำหนดให้รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร ขึ้นไป ต้องมีเกณฑ์การทรงตัวหรือผ่านทดสอบความลาดเอียง 30 องศา มีผลให้รถโดยสารที่สูงเกิน 3.60 เมตร (ส่วนใหญ่คือรถโดยสารสองชั้น) ที่จดทะเบียนก่อน 1 มกราคม 2556 ต้องผ่านการทดสอบความลาดเอียงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 ส่วนรถที่จดทะเบียนใหม่ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป

ต่อมาในปี 2557 กรมการขนส่งทางบก ได้ออกประกาศฉบับที่ 2 แก้ไขเพิ่มเติมปรับปรุงระยะเวลาการบังคับใช้เกณฑ์การทรงตัวให้เร็วขึ้นกว่าเดิม โดยกำหนดให้รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ต้องผ่านการทดสอบความลาดเอียงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2559 แต่ประกาศฉบับนี้ก็ไม่ได้การยอมรับจากกลุ่มผู้ประกอบการ จนนำไปสู่การยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางออก ผ่อนผันจากมาตรการบังคับให้ต้องนำรถเข้ารับการทดสอบตามประกาศฉบับนี้

ทำให้ในช่วงปลายปี 2558 ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามประกาศฉบับที่ 2 กรมการขนส่งทางบก ต้องออกประกาศฉบับที่ 3 ยกเลิกข้อความตามประกาศฉบับที่ 1 และที่ 2 ผ่อนผันให้รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อน วันที่ 1 มกราคม 2556 จำนวนกว่า 5,700 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของรถโดยสารสองชั้นทั้งหมด ยังไม่ต้องนำรถมาทดสอบความลาดเอียงตามกำหนดระยะเวลาเดิม แต่ต้องนำรถไปติดระบบ GPS ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการใช้ความเร็วแทน และหากรถในกลุ่มนี้แจ้งยกเลิกการใช้หรือนำรถมาจดทะเบียนใหม่หรือเปลี่ยนแปลงตัวถังรถ รถในกลุ่มนี้ก็ต้องบังคับให้เข้ารับการทดสอบความลาดเอียงก่อนวิ่งให้บริการเช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ในปี 2560 กรมการขนส่งทางบกยังได้กำหนดมาตรการคุมกำเนิดรถโดยสารสองชั้นเพิ่มอีกขั้นหนึ่ง ด้วยการกำหนดให้รถโดยสารขนาดใหญ่ที่มาจดทะเบียนใหม่จะต้องมีความสูงไม่เกิน 4.00 เมตร จากเดิมที่กำหนดไว้ 4.30 เมตร โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2560 โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีการจดทะเบียนรถโดยสารสองชั้นเพิ่มใหม่ในระบบอีก ซึ่งจะเป็นการจัดระบบรถโดยสารสองชั้นได้อีกทางหนึ่งด้วย

จากมาตรการต่างๆของกรมการขนส่งทางบก จะเห็นได้ว่าเป็นแนวทางจัดการที่มุ่งเน้นไปกับกลุ่มรถจดทะเบียนใหม่ที่ควบคุมได้ง่ายมากกว่า ในขณะที่ยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือเป็นทางออกร่วมกันกับกลุ่มรถเก่าหรือรถที่ใช้งานมาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2556 ที่เป็นรถกลุ่มใหญ่ในระบบตลาดทุกวันนี้

แม้ทางออกในวันนี้ คือ การติดตั้ง GPS ควบคุมความเร็ว รวมถึงมาตรการควบคุมพฤติกรรมคนขับรถด้วยเทคโนโลยี ซึ่งมีผลช่วยในเรื่องความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็อาจจะยังไม่ตอบโจทย์โครงสร้างของตัวรถโดยสารสองชั้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ในเส้นทางเสี่ยงได้ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการประกอบต่อรถโดยสารขนาดใหญ่ของอู่ต่อรถในบ้านเรา ยังต่อกันตามแบบที่สั่งกับแบบที่มี ไม่ใช่ต่อตามแบบมาตรฐานที่กรมฯควรจะกำหนดไว้

ดังนั้นหากกรมการขนส่งทางบก ปรับนโยบายใช้แนวทางการหาทางออกแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในประเด็นการกำหนดแบบมาตรฐานโครงสร้างรถโดยสารที่ปลอดภัย การสนับสนุนอาชีพพนักงานขับรถที่มีประสิทธิภาพ และระเบียบข้อบังคับความปลอดภัยที่จะออกมาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการทบทวนมาตรการต่างๆเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน น่าจะเป็นทางออกที่ดีต่อทุกฝ่ายมากกว่าการบังคับเพียงฝ่ายเดียวแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้แบบที่ผ่านมา                                                                                       

 

 

เขียนโดย   นายคงศักดิ์  ชื่นไกรลาศ  ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

 

พิมพ์