ข่าว/บทความรถโดยสาร

เจาะลึกปัญหารถสองชั้น ตอนที่ 1!!

จำนวนผู้ชม: 6821

ที่ผ่านมาการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นตามการใช้งานของผู้บริโภค และรถโดยสารยอดนิยมที่เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆในการเลือกใช้โดยสารนั่นก็คือ รถโดยสารสองชั้น!   

 

bus280361 

แล้วทำไมรถโดยสารสองชั้นถึงเป็นที่นิยมของคนจำนวนมาก ??

ตอบได้เลย เพราะตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าได้ทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการรองรับคนเดินทางได้ครั้งละจำนวนมาก และประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ไม่ต้องเช่ารถโดยสารจำนวนหลายคัน เช่น นักท่องเที่ยวเพื่อทัศนาจร นักเรียน-นักศึกษาเพื่อทัศนศึกษา เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเพื่อศึกษาดูงาน หรือการรับส่งพนักงานในกลุ่มบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ และด้วยความต้องการใช้รถโดยสารสองชั้นของกลุ่มผู้บริโภค ทำให้ที่ผ่านมาปริมาณรถโดยสารสองชั้นมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการ

ซึ่งจากข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559 พบว่า มีรถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนทั่วประเทศทั้งหมด 7,324 คัน   โดยแบ่งเป็นรถโดยสารประจำทาง 1,947 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 5, 314 คัน และรถโดยสารส่วนบุคคล 63 คัน

โดยสาเหตุที่กลุ่มผู้ใช้บริการนิยมเลือกใช้รถโดยสารสองชั้นในการเดินทาง พบว่า ส่วนใหญ่เลือกจากความสะดวกสบายของตัวรถ สภาพรถใหม่ ที่นั่งชั้นสองมองเห็นวิวข้างทางได้ มีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆรองรับความต้องการครบครัน เช่น เบาะนวดไฟฟ้า คาราโอเกะ ดนตรี อินเทอร์เน็ต ไวไฟ ขณะที่มีพื้นที่ชั้นล่างในการทำกิจกรรมร่วมกันในขณะเดินทางได้

แต่หลายคนจะรู้หรือไม่ว่า รถโดยสารสองชั้นที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้นั้น ส่วนใหญ่มีความสูงขนาดไหนกัน กฎกระทรวง ฉบับที่ 60 ตามพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 กำหนดคุณสมบัติของรถโดยสารสองชั้นไว้ว่า เมื่อวัดส่วนที่กว้างที่สุดของตัวถัง จะต้องไม่เกิน 2.55 เมตร ความสูงภายนอกของตัวรถที่ใช้ในรถโดยสารเมื่อวัดจากพื้นที่ราบถึงส่วนที่สูงที่สุดของรถจะต้องไม่เกิน 4.30เมตร และความยาวต้องไม่เกิน 12.00 เมตร ซึ่งเมื่อดูจากขนาดของรถโดยสารสองชั้นแล้ว ต้องบอกเลยว่ามีความเสี่ยงไม่น้อยเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับรถโดยสารชั้นเดียวที่มีขนาดเล็กกว่า

สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่า รถโดยสารสองชั้นมีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ สูงกว่า รถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า” ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารสองชั้น นั้น ก็สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถโดยสารชั้นเดียว ถึง 6 เท่า เช่นเดียวกัน

ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ ถ้าเป็นรถโดยสารประจำทางจะมีเส้นทางวิ่งที่แน่นอน มีกฎหมายควบคุมเส้นทางที่ขออนุญาตประกอบการเดินรถ ซึ่งรถโดยสารประจำทางจะไม่สามารถวิ่งออกนอกเส้นทางได้ แต่สำหรับรถโดยสารไม่ประจำทางแล้วนั้น เป็นการว่าจ้างให้เดินทางไปที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเดินทาง ซึ่งบางครั้งผู้ขับรถอาจไม่มีความชำนาญในเส้นทางนอกพื้นที่ และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยการเกิดอุบัติเหตุกับรถโดยสารสองชั้นทั้งหมดแล้ว แม้ปัจจัยความเสี่ยงของผู้ขับขี่จะดูเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งหลับใน ขับรถเร็ว ประมาทเลินเล่อ ไม่เคารพกฎจราจร แต่สภาพรถโดยสารสองชั้นที่มีความสูง โดยเมื่อประกอบกับความเร็วในการขับขี่และสภาพถนนที่เป็นทางโค้งลาดชัน ก็มีส่วนที่ทำให้รถโดยสารสองชั้นเกิดอุบัติเหตุเสียหลักหรือพลิกคว่ำได้ง่าย ซึ่งหมายความว่า สภาพตัวรถโดยสารสองชั้นเองนั้นก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน

 

เขียนโดย  : คุณคงศักดิ์  ชื่นไกรลาศ  ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

พิมพ์