แจ้งจับ 'แคลิฟอร์เนีย ว้าว' ฉ้อโกง

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 4400

ทนายอาสาเพื่อผู้บริโภคนำผู้เสียหาย แจ้งความตำรวจ กองบังคับการปราบปรามกระทำผิด เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ดำเนินคดี บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฐานฉ้อโกงประชาชน

 

วันที่ 30 กันยายน 2555) ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค  (ปคบ.) บริเวณถนนพหลโยธิน นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายสุรสิทธิ์  ธิราช ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำกลุ่มลูกค้า บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว กว่า 100 ราย เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค  (ปคบ.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษต่อผู้บริหารของบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฐานฉ้อโกง กรณีฟิตเนสปิดบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ไม่มีมาตรการชดเชยความเสียหายให้กับสมาชิก รวมทั้งมีพฤติกรรมที่ส่อไปในทางฉ้อโกงประชาชน พร้อมสนับสนุนแนวทางของ สคบ. ส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ดำเนินการเป็นคดีพิเศษ

นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า มูลนิธิได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก แคลิฟอร์เนีย ว้าว ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2555 ถึง 30 กันยายน 2555  ผู้เสียหายรวม 587 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 30 ล้านบาท ผู้ร้องส่วนใหญ่ทำการสมัครสมาชิกประเภทตลอดชีพ สมาชิกรายปี และรายเดือน ตามลำดับ ความเสียหายสูงสุดที่รับเรื่องร้องเรียนคือ 3 ล้านบาท แต่ก็เห็นทิศทางในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคมากขึ้นจากหน่วยงานของรัฐ

“ ตามที่ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการในกรณีนี้ภายหลังประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่า จะส่งเรื่องร้องเรียนไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษทั้งหมดไปยังดีเอสไอ เพื่อตรวจสอบ ดำเนินคดีอาญา กรณีหลอกลวงลูกค้า ให้มาสมัครสมาชิก และซื้อบริการให้เรื่องอื่นๆ ในระหว่างที่ถูกฟ้องล้มละลาย และจะทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารพาณิชย์ที่ยังเก็บเงินลูกค้าอยู่ให้ยุติการ เรียกเก็บเงินดังกล่าวนั้น เห็นว่าเหมาะสมแล้ว เพราะจะช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับผู้ร้องไปได้บ้าง ไม่ใช่ว่ายังต้องผ่อนค่างวดทั้งที่ไม่ได้บริการ  การที่บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ไม่ดำเนินการจัดให้บริการสาขาตามที่ได้ระบุในสัญญาสมาชิก อีกทั้งไม่จัดให้บริการผู้ฝึกสอนส่วนบุคคลได้ตามสัญญา ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทำให้ได้รับความเสียหาย สมาชิกสามารถดำเนินคดีแพ่งกับบริษัทดังกล่าว เพื่อบังคับให้คืนเงินแก่ผู้บริโภคได้ แต่เนื่องจากขณะนี้บริษัทดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้ม ละลายกลาง โดยศาลได้รับไต่สวนคำร้องดังกล่าวแล้ว บริษัทจึงได้รับความคุ้มครองพักการชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ.2483 ที่ค้านไม่ให้ฟ้องบริษัทเป็นคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สิน สิ่งที่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้คือทางคดีอาญานั่นเอง เพราะไม่มั่นใจว่าในขณะนี้ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นของบริษัทได้ทำการยักย้าย ถ่ายเท ทรัพย์สินไปแล้วหรือไม่ เพราะถึงแม้จะฟ้องเป็นคดีแพ่งในภายหลังก็อาจไม่สามารถจัดการกับผู้ที่กระทำความผิดได้ หรือแม้กระทั่งไม่สามารถเรียกเงินคืนได้แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เช่นเดียวกับกรณีสัมพันธ์ประกันภัยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วช่วงปี 2553 ” นางสาวสารี กล่าวเพิ่มเติม

 

นายสุรสิทธิ์  ธิราช  ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การกระทำของบริษัทนี้ ทั้งผู้บริหาร และพนักงานขายที่กระทำการเปิดรับสมาชิกอย่างต่อเนื่องนั้น ย่อมเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลอยู่แล้วแม้จะรู้ว่าบริษัทจะไปไม่รอด ไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ แต่ก็ยังหว่านล้อมให้ได้เงินมา รวมทั้งยังมีการปกปิดข้อมูลกับประชาชน ไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง ในทางคดีอาญาสมาชิกที่เดือดร้อนก็สามารถมาแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ยิ่งถ้ามีสมาชิกที่เดือดร้อนมากกว่า 10 คนขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นการฉ้อโกงประชาชนแล้ว

“จากข้อมูลทางคดีพบว่า ทางบริษัทฟิตเนสดังกล่าวภายหลังจากที่ถูกยื่นฟ้องล้มละลาย เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2555 ก็ยังคงมีพฤติกรรม เชิญชวนให้ประชาชนมาสมัครสมาชิก และซื้อโปรแกรมต่างๆกับทางบริษัท โดยไม่นำพาว่าสถานะของบริษัทตนเองเป็นอย่างไร สามารถประกอบกิจการได้หรือไม่ จนท้ายที่สุดก็ต้องทยอยปิดสาขาไปเรื่อยๆ ทำให้สมาชิกได้รับความเสียหายอย่างที่ไม่ควรจะเป็น ท้ายที่สุดก็ต้องออกมาเรียกร้องค่าเสียหายกันอย่างที่เห็น” นายสุรสิทธิ์ กล่าว




พิมพ์