รู้ทันคำโตของโฆษณาเกินจริง

เขียนโดย มัลลิษา คำเฟย. จำนวนผู้ชม: 17749

600525 newstv

“โทรมาตอนนี้ 50 สายแรก ได้ส่วนลดทันที จาก 3,000 บาท เหลือ 1,500 บาท และยังมีของแถมอีกจำนวนมาก”


คำโฆษณาชวนให้ผู้ที่ชมรายการขายสินค้าหน้าจอทีวี ได้ฟัง เกิดจิตใจหวั่นไหว จนต้องโทรสั่งซื้อทันที จะใช้ไม่ใช้ว่ากันอีกรอบหลังจากซื้อมาแล้ว สินค้าหลายตัวที่ผู้บริโภคซื้อมาแล้วมักเจอปัญหาไม่เป็นไปตามที่โฆษณา เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องทำความสะอาด กระทะ ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน

ครั้นซื้อมาแล้วพบว่าไม่ได้เป็นไปตามที่โฆษณา ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน แต่ไม่ได้กระชับจริงใส่แล้วม้วนเป็นก้อนกองอยู่ตรงจุดใดจุดหนึ่ง หรือไม่พอดีสัดส่วนแน่นมากจนหายใจไม่ออก ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างสรรพคุณว่าทานแล้วจะทำให้ผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคซื้อรับประทานก็พบว่าขาวจริงในช่วงที่กินผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แต่เมื่อหยุดทานก็กลับมาดำเหมือนเดิม แถมอาจมีโรคไตตามมาจากสารกลูต้าไธโอนในผลิตภัณฑ์นั้น ครีมบำรุงผิว ทาแล้วขาวภายใน 5 นาที แต่พบเมื่อซื้อทาแล้วผิวแตกลาย

การโหมกระหน่ำโฆษณาโดยใช้ดาราเป็นพรีเซนเตอร์ เพื่อตอกย้ำว่าสินค้าชิ้นนั้นคุณภาพดี ใช้แล้วขาวใส จริง ซึ่งเป็นการโฆษณาเกินจริง และโดยแท้จริงตามสิทธิผู้บริโภคข้อแรกเลย จะกล่าวไว้คือ “สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับการโฆษณาหรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภครวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการอย่างถูกต้องและเพียงพอที่จะไม่หลงผิดในการซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยไม่เป็นธรรม” แต่กลับพบว่าการโฆษณาที่ผ่านมาไม่ได้เป็นอย่างที่สิทธิที่ผู้บริโภคควรจะได้รับ
หากเกิดเหตุการณ์ที่พบว่า มีโฆษณาสินค้าเกินจริง หรือซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้วเจอปัญหา ผู้บริโภคอย่านิ่งนอนใจ อย่าใช้คำว่า “ช่างมันเถอะเงินไม่เยอะมาก” นั่นหมายถึงคุณกำลังเปิดช่องทางให้มีผู้ประกอบการโฆษณาเกินจริงทำผิดต่อผู้บริโภคไปเรื่อยๆ

5 เคล็ดลับซื้อของ
1. ตั้งสติอย่าหลงเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อที่ได้เห็น ได้ยิน มา ให้ค้นหาข้อมูล ตามแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ หรือการรีวิวของผู้บริโภครายอื่นที่ซื้อสินค้าแล้วใช้ได้ดีหรือไม่
2. เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ระบุเจ้าของผลิตภัณฑ์ชัดเจน เช่น ผลิตโดยบริษัทฯ จำหน่ายโดยบริษัทฯ ที่จดทะเบียนถูกต้อง เพื่อป้องกันการถูกหลอกให้ซื้อสินค้าปลอม
3. เก็บหลักฐานการสั่งซื้อ ควรเก็บหลักฐานการสั่งซื้อไว้ กรณีซื้อผ่านออนไลน์ (ให้บันทึกหน้าจอใบสั่งซื้อไว้) หรือหากสั่งซื้อทางโทรศัพท์ ให้เก็บหลักฐานใบโอนเงิน และใบเสร็จไว้ทุกครั้ง
4. ตรวจสอบสินค้า เมื่อได้รับสินค้าแล้วพบว่าสินค้าชำรุด หรือไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ ให้ติดต่อทางร้านทันที หากทางร้านบ่ายเบี่ยง ให้แจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้บ้านไว้เป็นหลักฐาน
5. ร้องเรียนเมื่อได้รับอันตรายจากการใช้สินค้า กรณีที่ใช้สินค้าแล้วได้รับอันตราย เช่นกรณีใช้ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุง หรืออาหารเสริม ให้ถ่ายรูปบริเวณที่เสียหาย แล้วร้องเรียนที่ “ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค” มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 02-2483737   “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง”

พิมพ์