การร้องขัดทรัพย์

เขียนโดย ชูชาติ คงครองธรรม. จำนวนผู้ชม: 20321

การยึดทรัพย์ก็ดี การร้องขัดทรัพย์ก็ดีถ้าได้กระทำโดยสุจริตแล้ว โดยที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งให้เจ้าของทรัพย์ให้เกิดความเสียหายแล้วย่อมไม่เป็นการละเมิด

สวัสดีครับ  ท่านผู้อ่านทุกท่าน

ทุกวันนี้ประชาชนจะเดินทางไปไหนมาไหน ก็ต้องอาศัยรถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทาง คนที่มีรถก็อาจจะมีรถส่วนตัวสามารถขับขี่ไปที่ต่าง ๆ ตามใจชอบ แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องใช้บริการของรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะในปัจจุบัน รถตู้บริการสาธารณะก็เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ใช้บริการกันอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีความคล่องตัว แถมยังไม่ต้องเบียดเสียดยัดเยียดมีที่นั่งให้สำหรับทุกคน มีแอร์เย็นสบาย เต็มเมื่อไหร่ออกเมื่อนั้น จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจของประชาชนทั่วไป

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อเสีย โดยเฉพาะการที่พนักงานขับรถขับรถด้วยความเร็ว ซึ่งจะต้องแข่งกับเวลา เพื่อให้ถึงจุดหมายโดยเร็ว เพื่อที่จะเพิ่มรอบให้มากขึ้นโดยไม่ได้คิดคำนึงถึงความปลอดภัย ส่งผลให้มีการเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีผู้ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อย แต่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ชินชา แม้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะออกมาใช้มาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมโดยใช้ทั้งหนักและเบา แต่ก็ยังไม่เห็นผลสักเท่าไหร่

ทุกชีวิตที่มาใช้บริการ ต่างฝากชีวิตไว้กับพนักงานขับรถเพราะฉะนั้นพนักงานขับรถควรที่จะใช้ความคิดและสติไตร่ตรองให้รอบคอบ ก่อนที่จะทำการเคลื่อนรถออกไปสู่ที่หมาย เพราะแท้ที่จริงแล้ว ช้าหรือเร็วไม่ใช่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ความสำคัญอยู่ที่คุณได้ส่งพวกเขาไปถึงจุดหมายปลายทางอย่างสวัสดิภาพหรือไม่เพื่อพบครอบครัวอันเป็นที่รักต่างหาก ที่เป็นสิ่งที่ผู้โดยสารทุกคนต้องการ

มาเรื่องบทความเรื่องหนี้มีทางออกกันครับ มากว่ากันด้วยเรื่องการร้องขัดทรัพย์หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การปล่อยทรัพย์

ประมวลกฎหมายวิแพ่งมาตรา 288 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 55  ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่า จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าของบังคับคดียึดไว้ ก่อนที่จะเอาทรัพย์สิน เช่นว่านี้ออกขายทอดตลาด หรือจำหน่ายโดยวีอื่น  บุคคลนั้น อาจยื่นคำร้องขอต่อศาล ที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น ในกรณีเช่นนี้ ให้ผู้กล่าวอ้างนำส่ง สำเนาคำร้องขอ แก่โจทก์ หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยลำดับ และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำขอเช่นว่านี้ ให้งดการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่พิพาทนั้นในระหว่างรอคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาล

การยึดทรัพย์ก็ดี การร้องขัดทรัพย์ก็ดีถ้าได้กระทำโดยสุจริตแล้ว โดยที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งให้เจ้าของทรัพย์ให้เกิดความเสียหายแล้วย่อมไม่เป็นการละเมิด ในการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ผู้ที่อ้างว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่เป็นของตนหรือตนมีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิร้องขัดทรัพย์ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าทรัพย์นั้นเดิมเป็นของลูกหนี้แต่ลูกหนี้นั้นได้โอนให้ผู้ร้องขัดทรัพย์โดยสมยอมอันเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานี้ไปในคดีร้องขัดทรัพย์ได้หรือไม่ หรือจะต้องไปฟ้องผู้ร้องขัดทรัพย์ และจำเลยให้เพิกถอนการโอนเสียก่อน  ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่า  เมื่อมีผู้ร้องขัดทรัพย์  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะอ้างได้ว่า การโอนทรัพย์ให้ผู้ร้องขัดทรัพย์นั้นเป็นการสมยอม ทำให้ตนเสียเปรียบ ขอให้ยกคำร้อง และศาลก็สามารถวินิจฉัยชี้ขาดปัญหานี้ได้โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนก่อน

การร้องขัดทรัพย์นี้ จะต้องร้องเสียภายในกำหนดเวลาตามที่ได้บัญญัติไว้  มิใช่จะร้องตามใจชอบเมื่อใดก็ได้ ตามมาตรา 288 ผู้ร้องขัดทรัพย์จะต้องร้องเสียก่อนที่จะเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น ที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ เพราะถ้าศาลขายทอดตลาดทรัพย์นั้นไปแล้ว ผู้ซื้อย่อมได้ทรัพย์สินนั้นไป  ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์มาตรา 1330  โดยไม่ต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ฉะนั้นการที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์จึงต้องร้องเสียก่อนนั้น


จำนวนผู้เข้าชม {hits}2125{/hits} ครั้ง

พิมพ์