ร้องแพทยสภา สอบหมอ-พยาบาล โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจริง

590803 medicine
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องแพทยสภาสอบสวนผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง



จากกรณีที่มีการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยแพทย์หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงนั้น

590803 staporn
นางสาวสถาพร อารักษ์วทนะ
เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ในสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอินสตาแกรม (instagram) หรือเฟซบุ๊ค (www.facebook.com) มีแพทย์ออกมาขายสินค้า อย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมาก โดยใช้ความเป็นแพทย์เป็นเครื่องการันตีผลิตภัณฑ์ ทำให้สินค้าดูน่าเชื่อถือ เช่น ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยโฆษณาสรรพคุณว่าเพื่อทำความสะอาดลำไส้ ปรับระบบขับถ่าย ทั้งที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจะโฆษณาว่าช่วยล้างพิษ หรือดีท็อกซ์เช่นนี้ไม่ได้ หรือโฆษณาขายเอ็นไซม์ทำให้อายุยืน รวมถึงการอวดอ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักที่ปลอดภัยที่สุด เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านี้ ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้สะดวกผ่านทางเว็บไซต์

“ความรู้สึกของผู้บริโภค ถ้าหมอพูดก็จะเชื่อ ซึ่งหมอจะบอกว่าผลิตภัณฑ์นี้รักษามะเร็ง ล้างพิษ ควบคุมและลดน้ำหนักได้แน่นอน หรือการันตีว่าสินค้านั้นปลอดภัยไม่ได้ เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด จะเชื่อหมอ แล้วก็ซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากิน ซึ่งอาจไม่หาย หรือไม่ได้ผลตามที่โฆษณา และยังอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอีกด้วย” นางสาวสถาพร กล่าว

เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวอีกว่า แม้แพทย์จะสามารถขายสินค้าได้ แต่การใช้ความเป็นแพทย์ขายสินค้าเพื่อประโยชน์ของตัวเองนั้น กระทำผิดตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๔๙ ข้อ ๒๑ ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ต้องไม่หลอกลวงผู้ป่วยให้หลงเข้าใจผิดเพื่อประโยชน์ของตน หรือข้อ ๔๔ ผู้ประกอบวิชาชีพฯ ถ้าต้องการแสดงตนเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพใดๆ ต่อสาธารณชนจะต้องไม่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นแพทย์หรือผู้ประกอบวิชาชีพฯ

“ด้วยความห่วงใยผู้บริโภคว่าอาจหลงเชื่อ หลงซื้อมาบริโภคแล้วไม่ได้ผลตามคำโฆษณา หรืออาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ จึงขอเรียกร้องให้แพทยสภา ตั้งกรรมการสอบสวนบุคคลเหล่านี้ เพื่อถอดใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม จากการขายสินค้าโดยใช้ความเป็นวิชาชีพมาการันตี” นางสาวสถาพรกล่าวและว่า ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดการกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาเกินจริง รวมทั้งทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเข้าถึงง่ายและสะดวกโดยเร็ว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าโฆษณานั้นๆ ได้รับอนุญาตจริงหรือไม่ หรือโฆษณาสรรพคุณเกินจริง

“นอกจากนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก็ต้องตรวจสอบการขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ว่าผู้ประกอบการได้จดทะเบียนประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติขายตรงและการตลาดแบบตรง พ.ศ.๒๕๔๕ หรือไม่” เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ กล่าว

พิมพ์ อีเมล