ฉลาดซื้อสุ่มตรวจของฝาก 4 ภาค ยังพบใส่สารกันบูดเกินมาตรฐาน

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 14845

 

924366

นิตยสารฉลาดซื้อฉบับ 205 เผยผลทดสอบของฝาก-ของดี 4 ประเภท จากภาคกลาง อีสาน เหนือและใต้ พบสินค้าใส่สารกันบูดเกินเกณฑ์ เว้นอีสานไม่พบการปนเปื้อน

 

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคสี่ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือและภาคใต้ ร่วมมือเก็บตัวอย่างสินค้าที่จัดเป็นของฝากยอดนิยม จำนวน 4 ประเภท ได้แก่ โรตีสายไหมจากภาคกลาง น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จจากภาคอีสาน น้ำพริกหนุ่มจากภาคเหนือและแกงไตปลาแห้งจากภาคใต้ ทดสอบเพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยและยกระดับมาตรฐานสินค้า ด้านอาหารให้กับผู้บริโภค

ผลการทดสอบ พบว่า แผ่นแป้งโรตีสายไหมจากภาคกลาง” ที่นำมาทดสอบจำนวน 10 ตัวอย่าง จาก จ. พระนครศรีอยุธยา มีการตกค้างของสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกทั้งหมด โดย 6 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 381 พ.ศ. 2559 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 4) สำหรับอาหารประเภทธัญชาติและผลิตภัณฑ์ธัญชาติ กำหนดไว้คือ พบปริมาณกรดเบนโซอิกได้ ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. ได้แก่

1. ร้านอาบีดีน + ประนอม แสงอรุณ พบ 23.96 มก./กก.

2. ร้านวริศรา โรตีสายไหม พบ 671.45 มก./กก.

3. ร้านโรตีสายไหมบังแป๊ะ พบ 686.56 มก./กก.

4. ร้านโรตีสายไหม ไคโร น้องชายบังอิมรอน พบ 708.64 มก./กก.

5. ร้านจ๊ะโอ๋ พบ 887.62 มก./กก. และ

6. ร้านประวีร์วัณณ์ พบ 985.84 มก./กก.

อย่างไรก็ตามพบว่า มีแผ่นแป้งโรตีสายไหม 4 ตัวอย่าง ที่มีกรดเบนโซอิกตกค้างเกินมาตรฐาน ได้แก่

1. โรตีสายไหม ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอารุณ เจ้าเก่า พบ 1910.45 มก./กก.

2. ร้านแม่ชูศรี พบ 1894.05 มก./กก.

3. ร้านเรือนไทย พบ 1502.32 มก./กก. และ

4. ร้านเอกชัย (B.AEK) พบ 1147.95 มก./กก.

ทั้งนี้สำหรับผลการทดสอบสีสังเคราะห์ในสายไหม พบทุกตัวอย่างใช้สีสังเคราะห์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ร้านเอกชัย (B.AEK) ซึ่งตรวจพบสีสังเคราะห์ กลุ่มสีเหลือง คือ ตาร์ตราซีน ปริมาณ  49.82 มก./กก. และกลุ่มสีน้ำเงิน คือ บริลเลียนท์ บลู เอฟซีเอฟ ปริมาณ  5.94 มก./กก. เมื่อคำนวณแล้วพบว่า ผลรวมสัดส่วนของสีสังเคราะห์ทั้งสองชนิดที่ตรวจพบ เท่ากับ 1.036 ถือว่าเกินเกณฑ์มาตรฐานไปเล็กน้อย เพราะตามกฎหมายระบุว่า เมื่อนำมาคำนวณร่วมกันแล้ว ต้องไม่เกิน 1 (ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381 ข้อ 6 )

  ด้านผลการทดสอบโลหะหนัก ตะกั่ว แคดเมียมใน “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จจากภาคอีสาน” จำนวน 12 ตัวอย่าง จากพื้นที่ จ. ขอนแก่น กาฬสินธุ์และอุบลราชธานี พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ที่กำหนดให้ตรวจพบได้ ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/อาหาร 1 กิโลกรัม และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้า (มผช. 1346/2557) ของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม ที่กำหนดไว้ว่า สารปนเปื้อนแคดเมียม ต้องน้อยกว่า 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ได้แก่

1. น้ำปลาร้าต้มสุกเข้มข้น ตรา น้องพร จากท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น ไม่พบการปนเปื้อนแคดเมียม/ ตะกั่ว

2. น้ำปลาร้าปรุงสุก 100% ตรา แซ่บไมค์ โดย ไมค์ ภิรมย์พร (น้ำปลาร้าสูตรส้มตำ) จากท็อปส์ มาร์เก็ต สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า ขอนแก่น พบแคดเมียมน้อยกว่า 0.03 มก./กก.และไม่พบการปนเปื้อนตะกั่ว

3. น้ำปลาร้าต้นตำรับกาฬสินธุ์ ตรา แม่ฝาย จากตลาดสระทอง เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด พบแคดเมียม 0.10 มก./กก.และตะกั่ว 0.04 มก./กก.

4. น้ำปลาร้าส้มตำ แม่บุญล้ำเจ้าเก่า (สูตรปรุงสำเร็จ) จากตลาดสดเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ พบแคดเมียมน้อยกว่า 0.03 มก./กก.และไม่พบการปนเปื้อนตะกั่ว

5. น้ำปลาร้าปรุงสุก ตรา แซ่บดี (น้ำปลาร้าสูตรส้มตำ) จากตลาดสดเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ พบแคดเมียม 0.12 มก./กก. และไม่พบการปนเปื้อนตะกั่ว

6. น้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรส ตราแม่หม่อม สูตรดั้งเดิม จากตลาดสดเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ พบแคดเมียม 0.10 มก./กก. และตะกั่ว 0.04 มก./กก.

7. น้ำปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จ ตะวันทอง ๑ จากตลาดบ้านคำไฮ จ.ขอนแก่น พบแคดเมียม 0.04 มก./กก. และตะกั่ว 0.03 มก./กก.

8. ปลาร้าส้มตำปรุงรส ตรา เจ้จุ๋ม         จากตลาดบ้านคำไฮ จ.ขอนแก่น พบแคดเมียม 0.05 มก./กก. และตะกั่ว 0.06 มก./กก.

9. แม่สมัย ปลาร้าส้มตำ จากตลาดบ้านคำไฮ จ.ขอนแก่น พบแคดเมียม 0.04 มก./กก. และตะกั่ว 0.03 มก./กก.

10. เศรษฐีแซ่บ น้ำปลาร้าต้มปรุงสำเร็จ สูตรเข้มข้น จากตลาดสดเทศบาลเมืองวารินชำราบ พบแคดเมียม 0.03 มก./กก. และตะกั่ว 0.04 มก./กก.

11. น้ำปลาร้าปรุงรสต้มสุก ตรา ภา-ทอง จากตลาดสดเทศบาล 1 เทศบาลนครขอนแก่น พบแคดเมียม 0.06 มก./กก. และตะกั่ว 0.05 มก./กก. และ

12. น้ำปลาร้าปรุงสุก 100% ตรา แซ่บไมค์ โดย ไมค์ ภิรมย์พร (น้ำปลาร้าสูตรส้มตำ) จากตลาดสดเทศบาลเมืองวารินชำราบ พบแคดเมียมและตะกั่วน้อยกว่า 0.03 มก./กก.

       สำหรับผลการทดสอบ น้ำพริกหนุ่มจากภาคเหนือ” จำนวน 10 ตัวอย่าง จาก จ.เชียงราย พะเยา ลำปาง เชียงใหม่และแพร่ พบว่า ทุกตัวอย่างมีสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้าง โดย 6 ตัวอย่างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่โคเด็กซ์กำหนดไว้ในหมวดอาหารประเภทน้ำพริกแบบแห้งและน้ำพริกแบบเปียก คือ ไม่เกิน 1,000 มก./อาหาร 1 กก. ได้แก่

1. เรือนไทยขนมไทย จาก จ.ลำปาง พบ 217.73 มก./กก.

2. อำพัน จาก จ.ลำปาง พบ 375.22 มก./กก.

3. น้ำพริกหนุ่มอุ้ยแก้ว จาก จ.พะเยา พบ 492.46 มก./กก.

4. ดำรงค์ จากตลาดวโรรสเชียงใหม่ พบ 509.82 มก./กก.

5. นันทวัน (เจียงฮาย สูตรดั้งเดิม) จาก จ.เชียงราย พบ 585.44 มก./กก. และ

6. เจ๊หงษ์ (เชียงใหม่) จากตลาดวโรรสเชียงใหม่ พบ 705.60 มก./กก.

      ในขณะที่น้ำพริกหนุ่มอีก 4 ยี่ห้อ พบปริมาณกรดเบนโซอิกสูงเกินกว่าที่มาตรฐานดังกล่าวกำหนดไว้ ได้แก่

1. แม่ถนอม จาก จ.แพร่ พบ 3476.46 มก./กก.

2. ป้านวย จาก จ.ลำปาง พบ 1195.06 มก./กก.

3. ศุภลักษณ์ (รสเผ็ดมาก) จาก จ.พะเยา พบ 1122.06 มก./กก. และ

4. น้ำพริก มารศรี(สูตรดั้งเดิม) จาก จ.พะเยา พบ 1043.80 มก./กก.

          นอกจากนี้ผลการทดสอบ “แกงไตปลาแห้งจากภาคใต้” พบว่า จากตัวอย่างแกงไตปลาแห้งที่นำมาทดสอบทั้งหมดจำนวน 10 ยี่ห้อ จาก จ. ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลาและปัตตานี มี 3 ยี่ห้อ ที่ไม่พบสารกันบูดหรือกรดเบนโซอิกตกค้างเลย ได้แก่

1. คุณแม่จู้ จาก จ.กระบี่

2. วังรายา จาก จ.ปัตตานี และ

3. วิน (Win) จากสนามบินหาดใหญ่

โดยมี 2 ยี่ห้อ พบกรดเบนโซอิกตกค้างแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ที่กำหนดไว้ในหมวดอาหารประเภทน้ำพริกแบบแห้งและน้ำพริกแบบเปียก คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ได้แก่

1. แม่รุ่ง จาก จ.ชุมพร พบ 269.57 มก./กก. และ

2. เจ๊น้อง จากศรีกระบี่ ศูนย์รวมของฝากฯ พบ 411.59 มก./กก.

 

อย่างไรก็ตามมี 5 ยี่ห้อที่พบสารกันบูด (กรดเบนโซอิก/ ซอร์บิก) ตกค้างเกินเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่

1. ป้าสุ จากตลาดกิมหยง จ.หาดใหญ่ พบเบนโซอิกและซอร์บิก 1318.32 มก./กก. และ 978.88 มก./กก. ตามลำดับ ซึ่งมีผลรวมของสารกันบูดทั้งสองชนิดเท่ากับ 2.297. 2 มก./กก. สูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) ที่กำหนดให้หากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหารรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง

2. ชนิดา(CHANIDA) จากสนามบินหาดใหญ่ พบเบนโซอิก 2540.22 มก./กก.

3. RICHMe by lalita จากตลาดกิมหยง พบเบนโซอิก 2429.64 มก./กก.

4. จันทร์เสวย จาก จ.ปัตตานี พบเบนโซอิก 1572.86 มก./กก. และ

5. แม่จิตร จากตลาดสดเทศบาล นครสุราษฎร์ธานี พบเบนโซอิก 1508.32 มก./กก.

         

ทั้งนี้สำหรับผลเสียของการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียที่มากเกินไป สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่รับประทานเป็นประจำได้ เช่น ทำให้ระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรือเกิดการสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดเป็นพิษเรื้อรังในอนาคต

          ด้าน นส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อครั้งนี้ เป็นการให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาหรือปรับปรุงคุณภาพสินค้าของตนเอง เพราะผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบจัดเป็นของฝากหรือของดีของแต่ละภูมิภาค ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภค และสามารถเป็นสินค้าที่นำไปส่งออกได้ ทั้งนี้ทางมูลนิธิฯ จะช่วยส่งจดหมายถึงคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขอให้มีการแนะนำกับผู้ผลิตเพื่อยกระดับสินค้าต่อไป

ลิ้งก์บทความ: https://bit.ly/2q1XqNY
หรือสแกน QR Code

QR CORD

พิมพ์