เครือข่ายผู้บริโภค พบ คมนาคม ยื่นข้อเสนอปรับมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้โดยสาร สร้างมาตรฐานความปลอดภัยที่ใช้ได้จริง

600113 action
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายฯ ขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยื่นข้อเสนอมาตรการคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ให้ยกเลิกจดทะเบียนรถตู้โดยสารใหม่ ติดตั้งระบบเสียงเตือนผู้โดยสารเมื่อรถวิ่งเร็วเกินกำหนด เปิดเผยข้อมูลจีพีเอสให้ผู้โดยสารดูข้อมูลได้ทันทีตามเวลาจริง ตั้งรางวัลการแจ้งเบาะแสเมื่อผู้ให้บริการทำผิดกฎหมาย รวมถึงกำหนดมาตรฐานการทำงาน รายได้ที่เหมาะสมให้พนักงานขับรถเพื่อแก้ปัญหาการวิ่งทำรอบและแย่งผู้โดยสาร



วันนี้ (13 ม.ค.60) เวลา 13.30 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 5 ภูมิภาค เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทวงคมนาคม เป็นผู้แทนรับหนังสือ ทั้งนี้เพื่อเสนอนโยบายต่อภาครัฐในการรณรงค์และขับเคลื่อนโยบายด้านความปลอดภัยของรถโดยสาร

จากกรณีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารประจำทางสายกรุงเทพฯ-จันทบุรี เสียหลักพุ่งข้ามถนนชนรถกระบะ บนทางหลวงหมายเลข 344 บริเวณกิโลเมตรที่ 26 ต.หนองอรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 2 ม.ค.60 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทั้งสิ้น 25 ราย และบาดเจ็บอีก 2 ราย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารในปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน ที่รวบรวมโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) พบว่า รถตู้โดยสารเกิดอุบัติเหตุมากถึง 215 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 1,102 ราย บาดเจ็บ 103 ราย หรือเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยมากถึง 19.5 ครั้งต่อเดือน และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 9.4 ราย

ปัจจุบันมีรถตู้โดยสารที่จดทะเบียนสะสมกับกรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 จำนวน 41,202 คัน แบ่งเป็นรถตู้โดยสารประจำทาง 16,002 คัน รถตู้โดยสารไม่ประจำทาง 24,136 คัน และรถตู้ส่วนบุคคล 1,064 คัน แม้กฎหมายจะบังคับให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ก็ยังพบปัญหาของรถโดยสารที่มีเข็มขัดนิรภัยแต่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ ไม่มีอุปกรณ์นิรภัยประจำรถ พนักงานขับรถขับรถด้วยความประมาท สภาพร่างกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ขับรถเร็ว บรรทุกผู้โดยสารเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในรถตู้ประจำทาง ที่ส่งผลถึงมาตรฐานการให้บริการรถตู้โดยสารของผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณภาพ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงจากอุบัติเหตุ

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย กล่าวว่า “ทางมูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายฯ เห็นว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาของกระทรวงคมนาคม ในการออกมาตรการปรับเปลี่ยนรถตู้โดยสารสาธารณะหมวด 2 ที่วิ่งให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ – ต่างจังหวัด จำนวน 6 พันกว่าคัน ให้เป็นรถไมโครบัส ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ และการออกประกาศเพิ่มเติมของกรมการขนส่งทางบก ที่กำหนดประเภทและลักษณะของรถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารต้องติดตั้งจีพีเอสให้ครบทุกคันภายใน 31 มี.ค.60 อาจแก้ปัญหาได้เพียงบางส่วนเท่านั้น”

ซึ่งหากจะให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นพันธกรณี การบริการขนส่งผู้โดยสารถือเป็นบริการขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคในการใช้บริการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 5 ภูมิภาค จึงมีข้อเสนอเพื่อพิจารณาและข้อเสนอแนะ ดังนี้

1. ควรพิจารณาออกประกาศกรมการขนส่งทางบกเพื่อยกเลิกการจดทะเบียนรถตู้โดยสารใหม่และกำหนดแนวทางยกเลิกและไม่ต่ออายุการจดทะเบียนรถตู้โดยสาร โดยกำหนดกรอบเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับปรุงการให้บริการและกรมฯ ควรพิจารณาหาแนวทางในการสนับสนุนด้านเงินทุนหรือกำหนดรถประเภทอื่น ๆ ที่มีความเหมาะสมมาใช้งานแทน

2. นอกจากการบังคับให้ผู้ประกอบการรถโดยสารต้องติดตั้งอุปกรณ์ GPS ภายในเวลาที่กำหนดแล้ว กระทรวงคมนาคมควรเร่งดำเนินการออกประกาศให้มีการติดตั้งเครื่องเตือนความเร็ว และ/หรือเครื่องจำกัดความเร็ว ในรถตู้โดยสาร (ในระหว่างที่ยังมีให้บริการ) และรถโดยสารทุกประเภทที่วิ่งให้บริการในเส้นทางกรุงเทพ – ต่างจังหวัด และต่างจังหวัด – ต่างจังหวัด เพื่อให้มีระบบเสียงหรือสัญญาณแสดงเตือนให้ผู้โดยสารภายในห้องโดยสารเห็นหรือได้ยิน หรือการจำกัดความเร็วให้อยู่ที่ระดับที่กฎหมายกำหนด หากมีการขับรถเร็วสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดกรอบเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ

3. การเปิดเผยข้อมูลการติดตามผ่านระบบ GPS ในรถตู้โดยสารและรถโดยสารทุกประเภทต่อสาธารณะ โดยมีระบบการเข้าถึงของผู้ใช้บริการและประชาชนทั่วไปผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนผู้ใช้บริการสามารถติดตาม และเข้าถึงข้อมูลได้ทันที ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบป้องกันการเกิดอุบัติเหตุแบบ Real time เมื่อพบว่ามีการขับรถด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ที่สามารถแจ้งเตือนผู้ประกอบการหรือหน่วยงานรัฐได้ทันที

4. สนับสนุนกลไกเฝ้าระวังรถโดยสารปลอดภัยภาคประชาชน ในการร่วมแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนผู้กระทำความผิดในประเด็นรถโดยสารไม่ปลอดภัย ที่มีการตรวจสอบและลงโทษเสร็จสิ้นตามกฎหมาย เช่น ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ขับรถหวาดเสียว บรรทุกผู้โดยสารเกิน ใช้รถผิดประเภท รถผีรถเถื่อน รถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือมีแต่ไม่สามารถใช้งานได้ เป็นต้น ด้วยการกำหนดมาตรการสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนผู้บริโภคที่ใช้บริการในการเฝ้าระวังรถโดยสารไม่ปลอดภัย โดยพิจารณาส่วนแบ่งจากเงินค่าปรับจากพนักงานขับรถและผู้ประกอบการ

5. พัฒนาช่องทางร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดออนไลน์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่ช่วยให้ประชาชน ผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการ สามารถร้องเรียนเข้าถึงได้ง่ายสะดวกอย่างเป็นระบบ และเมื่อมีการปรับหรือลงโทษตามกฎหมายแล้ว ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลแจ้งต่อสาธารณะโดยเร็ว

6. เร่งรัดเรื่องการกำหนดมาตรฐานวิชาชีพ สวัสดิการ รายได้แก่พนักงานขับรถให้พอเหมาะกับการดำรงชีวิต การจำกัดชั่วโมงการขับขี่ กำหนดเที่ยววิ่งต่อวันให้ชัดเจน ยกเลิกค่าตอบแทนในลักษณะการทำรอบ รวมถึงพิจารณาเส้นทางวิ่งของรถโดยสารไม่ให้มีความ ซ้ำซ้อนกัน ป้องกันการแย่งผู้โดยสาร เพื่อการยกระดับและพัฒนาวิชาชีพพนักงานขับขี่รถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ
(ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย) โทร. 084-6733022 , 02-2483737

พิมพ์ อีเมล