มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องกสทช. ให้บังคับใช้ประกาศเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ยื่นฟ้องปัดเศษวินาทีเป็นนาที 7 มีนาคม

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 7919

580805 sareeมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องกสทช. ให้บังคับใช้ประกาศเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ฯ ให้ผู้ประกอบการอำนวยความสะดวกผู้บริโภคในการขอรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ ตั้งเป้าฟ้องกรณีการปัดเศษวินาทีเป็นนาที 7 มีนาคม

(๓๐ มกราคม ๒๕๖๐) ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ขอให้ผู้บริโภคที่สนใจร่วมฟ้องคดี จำนวน ๓๘๕ ราย ขอรายละเอียดการใช้โทรศัพท์จากโอเปเรเตอร์ พบว่า ไม่สามารถขอรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ของตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่ยืนยันว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของตนเอง บางรายต้องลงมือบันทึกการใช้โทรศัพท์ทีละเบอร์จากพนักงานรับโทรศัพท์ โดยอ้างเป็นนโยบายบริษัทไม่ให้ข้อมูล หรือยืนยันไม่ยอมให้ข้อมูลโดยให้ไม่เหตุผล หรือให้ดูจากอินเตอร์เน็ต พบข้อมูลเป็นแบบปัดเศษเป็นนาทีทั้งหมด แม้ผู้บริโภคจะอ้างกสทช.แล้วก็ตาม

ตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการโทรคมนาคมเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สิทธิในความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม ข้อ ๙ ข้อมูลการใช้บริการ เลขหมายโทรคมนาคม รวมทั้งพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการถือว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ผู้บริโภคมีสิทธิขอตรวจดู ขอสำเนาหรือขอสำเนารับรองถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ(http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2549/E/088/20.PDF)

หรือตามมาตรฐานสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม ข้อ ๒๒ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการเห็นว่า ผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการโดยไม่ถูกต้อง ผู้ใช้บริการมีสิทธิขอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของตนจากผู้ให้บริการได้ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2549/E/099/7.PDF)

ประกาศทั้งสองฉบับบังคับใช้มากกว่า ๑๐ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่ผู้บริโภคก็ยังมีปัญหาและไม่สามารถขอข้อมูลจากบริษัทได้ ก็ขอเรียกร้องให้กสทช.(กทค.) ติดตามการบังคับใช้ประกาศต่าง ๆของตนเองด้วย ไม่ใช่ใครร้องเรียนก็แก้ปัญหาทีละราย ปัญหาก็ไม่จบสิ้น การละเมิดสิทธิผู้บริโภคก็ซ้ำซากไปมา

โดยผู้บริโภคที่สนใจร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มมีจำนวน ๓๘๕ ราย กับ ผู้ใช้บริการของทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) ดีแทค (DTAC) และบริษัท กสท. โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน) หรือ CAT
ส่วนขั้นตอนในการดำเนินคดี ต่อจากนี้ ขอให้ผู้บริโภคที่ร่วมฟ้องคดี ส่งรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ มาโดยเร็วที่สุดภายในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ และอาจจะจำเป็นต้องมีการประชุมผู้ร่วมฟ้องคดีกับทนายความ ภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ และคาดว่าจะยื่นฟ้องได้ไม่เกินวันที่ ๗ มีนาคมนี้

“มูลนิธิฯ เชื่อว่า การดําเนินคดีแบบกลุ่มในครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดําเนินการ เพราะ หากดูความเสียหายของผู้บริโภคเป็นรายบุคคลอาจมีไม่มาก ไม่จูงใจให้แต่ละคนไปฟ้องเรียกค่าเสียหาย แต่เมื่อรวมกันจะเห็นความเสียหายที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคชัดเจนขณะเดียวกัน การฟ้องคดีแบบกลุ่มจะช่วยผู้บริโภคร่วมฟ้องในคราวเดียว ป้องกันความขัดแย้งกันของคําพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้บริโภค ทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ที่ได้รับความเสียหายอย่างเดียวกัน และเกิดพลังในการคุ้มครองปกป้องสิทธิประโยชน์ของสาธารณะได้อย่างแท้จริง

การฟ้องคดีแบบกลุ่มในครั้งนี้ เพื่อเป็นการรวมตัวแสดงพลังของผู้บริโภค ร่วมยุติการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมและเอาเปรียบผู้บริโภค ทุกคนคือผู้เสียหายตัวจริง เพราะทุกคนถูกปัดเศษค่าโทรจากวินาทีเป็นนาทีทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นแบบเติมเงินหรือรายเดือน” นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

พิมพ์