องค์กรผู้บริโภคโวย กทค. วางกติกาประมูล 3G แบบผู้ประกอบการมีแต่ได้

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเรียกร้อง กทค. อย่าเอาใจผู้ประกอบการมากนัก ชี้ราคาขั้นต่ำกำหนดต่ำเกินไป ซ้ำร้ายยังจะขยายเวลาจ่ายนานถึง 5 ปี ควรเห็นแก่ประโยชน์สาธารณะและผู้บริโภคบ้าง

 

วันนี้ (15 ส.ค.) นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวถึงการเตรียมการประมูลใบอนุญาต 3G ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. กำลังดำเนินการว่า หลังจากที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นร่างเงื่อนไขการประมูลแล้ว ในขณะนี้ กทค. กำลังพิจารณาปรับเงื่อนไขเพื่อตอบสนองต่อเสียงสะท้อนของฝ่ายต่างๆ แต่เท่าที่ติดตามข่าวพบว่า กทค. มิทิศทางการปรับเงื่อนไขเอาใจแต่ผู้ประกอบการเพียงฝ่ายเดียว โดยมีการตั้งธงปรับ 3 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือ การลดเพดานขั้นสูงของการถือครองคลื่น เรื่องที่สองคือการกำหนดระยะเวลาชำระค่าใบอนุญาต และเรื่องราคาเริ่มต้นการประมูล

“ประธาน กทค. ให้ข่าวว่าจะมีการประชุมพิจารณาปรับแก้เงื่อนไขการประมูลในวันพุธที่ 15 สิงหาคมนี้ แล้วก็บอกธงว่า คงมีการปรับลดการถือครองคลื่นสูงสุดเป็น 15 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิมกำหนดไว้ที่ 20 เมกะเฮิรตซ์ และขยายเวลาให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตทยอยจ่ายเงินได้นานขึ้นเป็น 5 ปี จากที่เดิมกำหนดจ่ายใน 3 ปี รวมถึงจะยืดเวลาการจ่ายเงินงวดแรกด้วย จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ 45 วัน ส่วนเรื่องราคาตั้งต้นบอกว่าจะไม่ปรับ เราฟังแล้วชัดเจนว่า ทั้งหมดนี้ทำเพื่อผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะผู้ประกอบการเรียกร้อง ทั้งเรื่องลดเพดานและขยายเวลาจ่ายเงิน และที่จริงก็ขอให้ลดราคาตั้งต้นประมูลด้วย แต่เรื่องนี้อ่อนไหว กทค. อาจจะเกรงใจสังคม เลยยังไม่ตามใจแบบสุดลิ่มทิ่มประตูทุกข้อ แต่เท่านี้ก็มากแล้ว และเท่ากับไม่แยแสผู้บริโภคเลย เพราะไม่ได้คิดอะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น” นางสาวบุญยืนกล่าว

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคชี้ว่า เรื่องเพดานการถือครองคลื่นกับเรื่องราคาตั้งต้นประมูลควรมีการพิจารณาสอดคล้องกันไป เนื่องจากคลื่นที่นำออกประมูลคราวนี้มี 45 เมกะเฮิรตซ์ และเป็นที่รู้อยู่แล้วว่ามีผู้ประกอบการที่จะเข้าประมูล 3 ราย ดังนั้นเมื่อกำหนดลดขั้นการถือครองคลื่นสูงสุดจากรายละ 20 เมกะเฮิรตซ์ เป็น 15 เมกะเฮิรตซ์ ย่อมเท่ากับลดสภาพการแข่งขันอยู่แล้ว นอกจากนี้ราคาตั้งต้นที่กำหนดไว้4500 ล้านบาทต่อ 5 เมกะเฮิรตซ์นั้น แท้จริงเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมากแล้ว

“เมื่อปรับลดเพดานการถือครองลง ตัวเลขมันหารกันลงตัวทันที ฉะนั้นถ้าไม่เพิ่มราคาตั้งต้น ผู้ประกอบการก็ยิ้มเลย ที่เขาบ่นๆ กันว่าราคาที่กำหนดไว้แพงนั้น อันนี้บอกได้ว่า เป็นการพูดแบบเอาทุกทาง เพราะในความเป็นจริง จากที่เราติดตามในขั้นการพิจารณาของ กทค. ก่อนหน้านี้ ที่ตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการ และให้ทางนักวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยศึกษาเรื่องราคา เราก็ได้รู้ว่า ผลการศึกษาบอกว่าราคาตลาดนั้น อย่างต่ำที่สุดก็คือ 6,230 ล้านบาท และเป็นไปได้ว่าจะสูงถึง 13,000 กว่าล้านบาท นี่ขนาดเราติดตามห่างยังรู้ เชื่อว่าผู้ประกอบการยิ่งกว่ารู้ แต่ก็อยากจ่ายน้อยที่สุด แล้ว กทค. ก็แกล้งทำไม่รู้ บ้าจี้ทำเป็นว่าราคาที่ตั้งไว้ 4500 ล้านก็แพงแล้ว เราบอกเลยว่าผิด ที่ถูกคือมันถูกอยู่ และควรต้องขึ้นราคาด้วย”

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคย้ำอีกว่า สำหรับเครือข่ายผู้บริโภคแล้วมีจุดยืนสนับสนุนการประมูล 3G เพราะถือว่า ผลปลายทางนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคด้วย ที่จะได้ใช้บริการที่มีคุณภาพ แต่การประมูลต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศเช่นกัน เพราะคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ นอกจากนั้นก็ต้องแข่งขันอย่างเป็นธรรม และมีการกำกับดูแลที่ดีเพื่อให้เกิดการให้บริการอย่างมีคุณภาพ สมราคา และคุ้มครองผู้บริโภคด้วย

“เราไม่ได้ขู่ แต่อยากเตือนว่า ประมูล3G คราวนี้ กทค. อย่าเน้นเอาใจผู้ประกอบการเกินไป ไม่งั้นจะสะดุดล้มเพราะผลประโยชน์มันพันขาพันแขนตัวเอง” นางสาวบุญยืนกล่าวในที่สุด

พิมพ์ อีเมล