ผู้บริโภคฟ้อง AIS และ Dtac เหตุกำหนดวันหมดอายุไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.

ผู้บริโภคยื่นฟ้อง AIS และ Dtac ข้อหาผิดประกาศ กสทช. ข้อ 11 ละเมิดผู้บริโภคด้วยการกำหนดอายุการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า หรือ ระบบเติมเงินเพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภค

 

วันนี้ (1 ส.ค.) ในเวลา 11.00 น.  นายเฉลิมพงษ์  กลับดี เป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ยื่นเรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 411, 000 บาท ศาลแพ่ง (รัชดา) และ นางสาวจุฑา สังขชาติ ผู้ใช้บริการโทรศัพท์ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เรียกค่าเสียหายทั้งสิ้น 423,000 บาท ต่อที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในเวลา 13.30 น. ทั้งนี้ผู้เสียหายทั้ง ๒ ราย ได้มอบอำนาจให้นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศและนายพรชัย จันทร์มี เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทน

หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มีคำสั่งทางการปกครองต่อผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้ง 5 บริษัท ที่ไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ข้อ 11 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 กันยายน 2549  โดยสำนักงาน ฯ ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 กำหนดค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 100,000 บาทโดยเริ่มปรับตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไป

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีการติดตามการดำเนินการของผู้ให้บริการทั้ง 5 บริษัท พบว่ายังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค เช่น เมื่อผู้บริโภคยังมิได้มีการเติมเงินเข้าสู่ระบบก็จะมีการแจ้งสิทธิต่อผู้บริโภคผ่าน SMS ด้วยข้อความว่า “เพื่อรักษาเงิน 64.18 บาท ให้ใช้ได้ต่อเนื่อง กรุณาเติมเงินก่อน 08/06/2555” จากข้อความดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีเจตนาบังคับให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งขัดต่อประกาศเรื่องมาตรฐานสัญญา ข้อที่ 11 อย่างชัดเจน

ข้อมูลการตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2554 มีผู้ใช้บริการทั้งหมด 75,535,338 ราย โดยแยกออกเป็น 2 แบบ คือ แบบชำระค่าบริการรายเดือน มีจำนวน 7,469,164 ราย และแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า (เติมเงิน) มีจำนวนผู้ใช้อยู่ที่ 68,066,175 ราย ซึ่งเห็นได้ว่าระบบเติมเงินมีผู้ใช้บริการมากถึงกว่าร้อยละ 90 % ทั้งนี้ จากการศึกษาของสำนักงาน กสทช. พบว่ารายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินอยู่ที่เดือนละ 156 บาท (ข้อมูลอ้างอิงจากรายงานสภาพตลาดโทรคมนาคม ฯ และ ข้อมูลกลุ่มงานวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม ฯ ของสำนักงาน กสทช.)

การที่ผู้ให้บริการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินถึง 300 บาท เพื่อจะได้จำนวนวันใช้งาน 30 วัน ถือเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคทั้งประเทศต้องเติมเงินเกินกว่าที่จะใช้จริงถึงเดือนละ 144   บาทต่อหนึ่งเลขหมาย ซึ่งผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการมีจำนวน 68,066,175  เลขหมาย  จึงคิดเป็นมูลค่าที่ผู้ให้บริการจะได้รับเงินส่วนเกินจากการบังคับให้ผู้บริโภคต้องเติมเงินถึงเดือนละ  9,801,529,200  บาท (เก้าพันแปดร้อยหนึ่งล้านห้าแสนสองหมื่นเก้าพันสองร้อยบาท)

การยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการกระทำการละเมิดต่อผู้บริโภคอีกแม้แต่รายเดียว และผู้ให้บริการควรคำนึงถึงการประกอบธุรกิจที่ยึดหลักธรรมาภิบาล ดูแลผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม

ทั้งนี้ผู้บริโภครายใดที่ประสบปัญหาดังกล่าว สามารถลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิของตนเองเพื่อต่อสู้กับผู้ที่เอาเปรียบผู้บริโภคและร่วมกันยื่นฟ้องคดี โดยติดต่อปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ ปรับแบบฟอร์มการฟ้องคดี ที่ Flie คำฟ้องด้านล่างค่ะ

 

พิมพ์ อีเมล