ผู้บริโภคเรียกร้องผู้ประกอบการหยุดฟ้องกลับผู้บริโภค

วันนี้ (19 กรกฎาคม 2555) เวลา 10.00 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับตัวแทนผู้บริโภคที่ถูกฟ้องทางคดีเมื่อใช้สิทธิเรียกร้องทางกฎหมาย   จัดเวทีแถลงข่าว เรื่อง “เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิตามกฎหมายแล้วถูกฟ้องคดี ” ขึ้นที่ห้องประชุมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร   เพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อเท็จจริง ปัญหาและความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคเมื่อใช้สิทธิร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลที่เกิดจากการใช้สิทธิโดยสุจริตแล้วถูกฟ้องร้องทางคดี และยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกสำหรับผู้บริโภคที่ถูกฟ้องร้อง

มาตรา 61 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ระบุว่า สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการรับข้อมูลที่เป็นความจริงและมีสิทธิร้องเรียน เพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แต่ที่ผ่านมาเมื่อผู้บริโภคมีปัญหาจากสินค้าหรือบริการ มีเพียงร้อยละ ๒ เท่านั้นที่ใช้สิทธิร้องเรียนจนสิ้นสุด ผู้บริโภคขาดอำนาจต่อรอง หรือหากผู้บริโภคต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย ถึงแม้จะมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคก็ยังใช้เวลานาน ที่ผ่านมาผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงดำเนินการขั้นต้นด้วยการร้องเรียนผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง แต่พบว่า สิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมายในการใช้สิทธิร้องเรียนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ ก็ถูกผู้ประกอบการธุรกิจบางรายใช้อำนาจที่มีตามกฎมายฟ้องร้องผู้บริโภค เพื่อข่มขู่ ให้ยุติการดำเนินการร้องเรียน หรือเพื่อให้ผู้บริโภคเพิกเฉยต่อการใช้สิทธิ บั่นทอนกำลังใจ เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย จนล้มเลิกหรือไม่ประสงค์จะเรียกร้องสิทธิของตนเองไป

นางสาวสวนีย์  ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตนเองเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค รวมทั้งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีในข้อหา หมิ่นประมาทจากการโฆษณาและแจ้งความเท็จ เพราะดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายจำนวน 19 ราย ที่มาร้องเรียนเรื่องความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ตู้ จากประเทศจีน ที่นำเข้ามาจากบริษัทแห่งหนึ่ง  โดยทางบริษัทเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 5 ล้านบาท เพราะนำเรื่องร้องเรียนไปยื่นกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อ

“ไม่ได้รู้สึกกลัว หรือว่ากังวล จากการถูกฟ้องคดีในครั้งนี้ และคิดว่าจะเดินหน้าเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องเรียนต่อไป โดยส่วนตัวเห็นว่าการฟ้องก็เป็นการคดีที่ทางผู้เสียหายจะได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในศาลว่ามีความเดือดร้อนอย่างไรกันบ้าง เพราะเวลามูลนิธิเพื่อผู้บริโภครับเรื่องร้องเรียนก็มีขั้นตอนการสอบสวนข้อเท็จจริง ก่อนจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป ไม่ใช่เชื่อหมดใจว่าผู้ร้องเรียนให้ข้อมูลที่เป็นจริง โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคือ การสนับสนุนใช้ผู้บริโภคใช้สิทธิที่ตัวเองมี คุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่ก็มีบทบาทในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาและการป้องกันปัญหา อีกอย่างการให้ข้อมูลข้อเท็จจริงผ่านรายการโทรทัศน์ก็เพื่อเป็นประโยชน์กับสาธารณะ เพื่อผู้บริโภครายอื่นที่ต้องระมัดระวังเมื่อจะซื้อสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หากศาลรับฟ้องว่าคดีมีมูล ผู้ถูกฟ้องซึ่งไม่ได้ร่ำรวย ก็คงจะลำบากในการหาหลักทรัพย์ไปประกันตัวแน่นอน ยังไม่ทราบว่าจะสคบ.ที่ไปร้องเรียนในกรณีนี้แล้วถูกฟ้องจะช่วยได้หรือไม่” นางสาวสวนีย์กล่าว

นายทรงพล  พวงทอง  จำเลย ที่ 1 ในคดีเดียวกัน เปิดเผยว่า ตนเองและครอบครัวเริ่มมีความไม่เข้าใจกันหลังจากที่ตนเองถูกฟ้องร้อง เพราะครอบครัวเห็นว่าไปร้องเรียนทำไม ร้องเรียนแล้วถูกฟ้องนั้นทำให้เกิดความยุ่งยาก เสียเวลา ได้ไม่คุ้มเสีย แต่สำหรับตนเองจะเดินหน้าต่อสู้เพื่อความถูกต้องต่อไป

“ผม คิดว่า ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้บริโภคเลย ถ้าบริษัทจะใช้วิธีการฟ้องร้องผู้บริโภคเพื่อยุติปัญหา เพราะข้อมูลที่เปิดเผยไปกับสาธารณะนั้นเป็นข้อเท็จจริงทั้งสิ้น และเป็นประโยชน์กับสาธารณะการเปิดเผยก็เพื่อไม่ให้ผู้บริโภครายอื่นมารับ กรรมจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานต่อไป  การที่บริษัททำเช่นนี้อีกหน่อยก็คงไม่มีใครอยากร้องเรียนในเรื่องที่ถูกต้อง เรื่องที่ตัวเองถูกเอารัดเอาเปรียบ” นายทรงพล กล่าว

ด้านนายบังเอิญ  เม่น น้อย ผู้ถูกฟ้องในคดีเดียวกันให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนเองเห็นข้อมูลรถดังกล่าวจากอินเตอร์เน็ตผ่านโครงการ สร้างอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย โดยไม่ทราบว่าก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนบริษัทที่นำเข้ารถตู้ยี่ห้อดังกล่าว ไปที่ สคบ.ตั้งแต่ปี 2552  พอซื้อรถตู้ดังกล่าวมาใช้ งานก็พบว่ามีความชำรุดบกพร่อง ต้องซ่อมกันอย่างต่อเนื่อง แถมตนเองยังต้องลาออกจากงานประจำมาเพื่อขับไปซ่อมไป ตนเห็นว่าถ้ารถยนต์ไม่มีคุณภาพก็ไม่ควรนำมาจำหน่ายแล้ว พฤติกรรมแบบนี้เป็นการโยนเคราะห์กรรม มาให้ผู้บริโภคแต่ตัวเองรับเงินไปสบายใจ

นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว           ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง เครือข่ายผู้ติดเชื่อ HIV เอดส์แห่งประเทศ และเครือข่ายผู้ป่วยจิตเวช เปิดเผยว่า เครือข่ายผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม ได้ใช้สิทธิร้องเรียนต่อสภาเภสัชกรรม กรณีในสอบจรรยาบรรณวิชาชีพของเภสัชกรท่านหนึ่ง ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์จากการให้ความเห็นเกี่ยวกับการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (ซีแอล) ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมและอาจไม่เหมาะสมในฐานะการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ จนทำให้เครือข่ายผู้ป่วยทั้งสามถูกฟ้องหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงนนทบุรี

“ ซึ่งการร้องเรียนต่อสภาเภสัชกรรมไม่ใช่การตัดสินว่าผู้ถูกร้องว่าผิดหรือถูก แต่เป็นการที่ใช้สิทธิต่อหน่วยงานของรัฐเพื่อให้ตรวจสอบจรรยาบรรณวิชาชีพ  แต่ผู้ร้องเรียนที่มีบทบาทในการผลักดันการทำซีแอลเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาที่จำเป็นต่อชีวิต กลับต้องถูกฟ้องคดี เพื่อต้องการให้ยุติบทบาท และเสียเวลาในการทำภารกิจที่สำคัญต่อสังคม สำหรับภาครัฐก็ต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการใช้สิทธิของประชาชนให้สมบูรณ์ โดยรัฐต้องมี 3 ส่วนคือ การเคารพสิทธิของประชาชน การปกป้องคุ้มครองสิทธิ และการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้ง การส่งเสริมเผยแพร่ ทำให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิอย่างทั่วถึง  ใช้ความจริงใจในการทำงานไม่ใช่แค่สร้างวาทะกรรม” นางสาวสุภัทรา กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง  เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องผู้บริโภคที่ใช้สิทธิโดยสุจริตเป็นปัญหามานาน ทั้งที่การร้องเรียนถือว่าเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคที่สำคัญ การร้องเรียนเมื่อเกิดความเสียหายจากการใช้สินค้าและบริการ รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลกับสาธารณะชนคือสิทธิอันพึงมีพึงได้ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศทั่วโลกก็ส่งเสริมให้ประชาชนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานนี้ ”  นางสาวสารี กล่าวและคิดว่ามีความจำเป็นที่หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมต้องยื่นมือเข้ามาให้การช่วยเหลือผู้บริโภคหรือหน่วยงานที่ถูกดำเนินคดี พร้อมยื่นข้อเสนอกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกร่วมกันสำหรับผู้บริโภคที่ใช้สิทธิของตนเองอย่างสุจริต ตรงไปตรงมา แล้วถูกฟ้องร้องดำเนินคดี คือ

  1. เรียกร้องให้ผู้ประกอบการ หยุดใช้มาตรการฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้บริโภคที่ใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเองร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพราะเป็นบทบาทและภารกิจของหน่วยงานในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง  อย่าฟ้องผู้บริโภคเพื่อข่มขู่ หรือเพื่อให้หยุดระงับการใช้สิทธินั้น
  2. เรียกร้องหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน หรือให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ให้พึงระวังการใช้ข้อมูลของผู้ร้องเรียนให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้ร้องทั้งหมดกับบริษัทที่ถูกร้องเรียน เพื่อป้องกันปัญหาการนำข้อมูลดังกล่าวไปฟ้องดำเนินคดีกับผู้บริโภค
  3. เรียกร้องไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้ความยุติธรรมทั้งหลาย มีกลไกให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกฟ้องคดีที่ใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเอง
  4. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อสามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงกับผู้บริโภค โดยอาจจะเปิดเผยชื่อสินค้าหรือบริการได้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าแทนที่ให้ผู้บริโภคต้องทดลองหรือเสี่ยงใช้เมื่อมีปัญหาใช้สิทธิร้องเรียนแล้วกลับถูกฟ้องคดี

พิมพ์ อีเมล