ผู้บริโภค จี้ กสทช. จัดการโฆษณาสินค้าหลอกลวงทางวิทยุชุมชน เคเบิลทีวีและทีวีผ่านดาวเทียม

เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจับมือนักวิชาการ จี้ กสทช. จัดการโฆษณาสินค้าหลอกลวงทางวิทยุชุมชน เคเบิลทีวีและทีวีผ่านดาวเทียม

8 มี.ค.55/กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 11 นาฬิกา ตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค 16 จังหวัดจังหวัด จากภูมิภาค ทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม กาญจนบุรี ราชบุรี สระบุรี ตราด ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา สุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา และสตูล
รวมกับกลุ่มนักวิชาการด้านเภสัชฯ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สายคุ้มครองผู้บริโภคด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อขอให้จัดการโฆษณาสินค้าหลอกลวงทางวิทยุชุมชน เคเบิลทีวีและทีวีผ่านดาวเทียม

นายพชร แกล้วกล้า จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยว่า ทางมูลนิธิฯได้ร่วมกับเครือข่าย 16 จังหวัดศึกษาข้อมูลการโฆษณาสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม จำนวน จังหวัดละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๔ วัน ระหว่างเดือนเมษายน – ตุลาคม ๒๕๕๔ โดยมีผลการศึกษาพบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียมกว่าร้อยละ ๙๕ และมีการกระทำความผิดซ้ำซากของผู้ประกอบการที่ถึงแม้จะโดนลงโทษตามกฎหมายแต่ก็ยังมีการโฆษณาอย่างต่อเนื่องอันนำมาซึ่งความเข้าใจผิดในการบริโภคของผู้รับสื่อที่บางครั้งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตหรือเสียทรัพย์ทั้งเพื่อซื้อสินค้าและรักษาตัวจากอันตรายที่เกิดจากการใช้สินค้าโดยได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากโฆษณาผิดกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาโฆษณาสินค้าทางวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี และทีวีผ่านดาวเทียม

“อยากให้ออกประกาศและบังคับใช้หลักเกณฑ์การประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งกำหนดกลไกการกำกับดูแลและบทลงโทษแก่ผู้ประกอบการอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ตลอดจนการพิจารณาออกคำสั่งในการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ให้มีการนำข้อมูลการกระทำความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ มาประกอบการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตให้ดำเนินกิจการฯ

กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการฯ จัดสรรเวลาอย่างชัดเจนและเพียงพอในช่วงเวลาที่เหมาะสม แก่หน่วยงานหรือองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ได้นำเสนอข้อมูลให้เท่าทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพตามข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ปรากฎในผลการศึกษาการโฆษณาฯ ที่แนบมาพร้อมนี้

และให้มีการจัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนชุมชนที่มีความพร้อมหรือผู้ประกอบการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ประเภทบริการชุมชนที่มีคุณภาพและปฏิบัติตามจริยธรรม จรรยาบรรณของการสื่อสาร และรสนับสนุนให้ภาคประชาชนทำหน้าที่เฝ้าระวังการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ ฝ่าฝืนกฎหมายรวมทั้งการจัดการปัญหาในพื้นที่” นายพชร กล่าว

ทางด้าน ผศ.ภญ.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค จากแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) ในนามนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์และการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นตัวแทนยื่นหนังสือให้แก่ กสทช.
กระตุ้นให้เร่งจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิ้ลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ตามมติสมัชชาสุขภาพที่ผ่านมา

“ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือ โฆษณาเกือบทั้งหมดในสื่อเหล่านี้ผิดกฎหมายชัดเจน แต่ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการ ดังนั้น ในส่วนของ กสทช. เราขอให้ดำเนินการ ประสานงานกับ อย. ให้เข้มงวดในการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดที่โฆษณาโดยผิดกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขการต่ออายุ การพักใช้ การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการฯ โดยเชื่อมโยงกับความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ” ผศ.ภญ.สุนทรี กล่าว

พิมพ์ อีเมล