มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ดัดหลังบริษัทประกันภัย ฟ้องศาลชดใช้ค่าเสียหาย12 ล้านบาท เหตุเพิกเฉยไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน กรณีไฟไหม้สำนักงาน

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสภาทนายความฟ้องเรียกค่าเสียหายสิบสองล้าน  พร้อมให้ศาลมีคำพิพากษาบริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ฯ และ บริษัท ชาร์ทิส ประกันภัย ฯ พิพากษาเชิงลงโทษบริษัททั้งสองตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2550 มาตรา 42 กรณีไฟไหม้อาคารสำนักงานแล้วบริษัทไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งบังคับให้มูลนิธิ ฯ ยุติคดีหากยอมรับเงินช่วยเหลือหนึ่งล้านบาททั้งที่ขัดต่อหลักการให้เงินช่วยเหลือของบริษัทประกันภัยของหน่วยงานกำกับดูแล(คปภ.)

Consumerthai – 27 พ.ค. ศาลแพ่งรัชดา เวลา 10.00 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำโดย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นฟ้องบริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ฯ และ บริษัท ชาร์ทิส ประกันภัย ฯ ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทน กรณีไฟไหม้อาคารสำนักงาน ต่อศาลแพ่งรัชดา

คดีนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะองค์กรผู้บริโภค และผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นที่อาคารเซ็นเตอร์วัน เมื่อวันที่ 19  พฤษภาคม 2553  และเพลิงได้ลุกลามมาไหม้ผนังอาคารและทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของมูลนิธิฯ ที่ได้ทำสัญญาประกันภัยเอาไว้กับ บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ ฯ และ บริษัท ชาร์ทิส ประกันภัย ฯ  ทำให้โครงสร้างอาคารทรัพย์สินดังกล่าวได้รับความเสียหาย ห้องทำงานต่างๆ ห้องประชุม ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบปรับอากาศ เครื่องใช้ภายในสำนักงาน,เฟอร์นิเจอร์ตลอดจนเครื่องตกแต่ง ฯลฯ ภายในอาคารต่างๆ ได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้จำนวนมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

“หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ มูลนิธิฯได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังบริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ ฯ จำนวน 2 ครั้ง เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ทำไว้  แต่บริษัทประกันภัยฯ ก็ยังเพิกเฉยไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามสัญญา” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว

พร้อมทั้งกล่าวเสริมว่า ภายหลังจากที่มูลนิธิฯ ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้บริษัทประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่ไม่มีความคืบหน้านั้น   ต่อมามูลนิธิฯจึงได้ไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยได้มีการไกล่เกลี่ยระหว่างมูลนิธิฯ กับผู้แทนบริษัทประกันภัย ถึง 4 ครั้ง  แต่ก็ไม่สามารถตกลงเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้ โดยในการเจรจาครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554  ตัวแทนบริษัทประกันภัยได้แจ้งว่า บริษัทตกลงจ่ายเงินช่วยเหลือจำนวน 1,050,000 บาท โดยบังคับให้มูลนิธิฯ ในฐานะผู้เสียหายต้องยุติเรื่องร้องเรียนและยุติการดำเนินการฟ้องร้องคดีกับบริษัทประกันภัยทั้งหมด

“การที่บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ ฯ และ บริษัท ชาร์ทิส ประกันภัย ฯ  ในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจ อันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน กลับฝ่าฝืนหลักการในการช่วยเหลือเบื้องต้นของบริษัทประกันภัยต่อผู้ที่ได้รับความเสียหาย มีเจตนาเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม เอาความเดือดร้อนเสียหายของมูลนิธิฯ เป็นข้อต่อรองโดยปราศจากธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ จึงเป็นการกระทำที่ไม่คำนึงถึงความเสียหายอันแท้จริงที่มูลนิธิฯได้รับ จงใจให้มูลนิธิฯ ในฐานะผู้เสียหายให้ไม่ได้รับการเยียวยา ทำให้ได้รับความเสียหายมากขึ้น  มูลนิธิฯ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเชิงลงโทษ ตามมาตรา 42 ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พร้อมเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น  จำนวน  12,733,418.54  บาท”  นางสาวสารีกล่าว

พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกรณีเดียวกันนั้นยังสามารถฟ้องดำเนินคดีความได้ เพราะมีอายุความ 2 ปี จึงควรรีบดำเนินการเรียกร้องสิทธิ์ก่อนจะหมดอายุความ

 

สรุปคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกรณี ประกันภัยอาคารมูลนิธิ ฯ

ข้อ ๑     โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคล ประเภทมูลนิธิ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้ชื่อว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ฯ และวัตถุประสงค์อื่นๆตามที่ได้จดทะเบียนไว้  มี รศ.ดร จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิ เป็นผู้มีอำนาจเป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์แล้วกระทำการแทนโจทก์ได้ หรือในการลงลายมือชื่อในเอกสาร ข้อบังคับและสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ  ปฏิบัติการอื่นๆ ตามข้อบังคับและมติของคณะกรรมการมูลนิธิ  รายละเอียดปรากฏความตามสำเนาหนังสืออนุญาตจัดตั้งสมาคมหรือองค์การ  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ , สำเนาใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการมูลนิธิของสำนักงานทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนนทบุรี และสำเนาข้อบังคับของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เอกสารประกอบท้ายคำฟ้องหมายเลข  ๑  , ๒ , ๓ ตามลำดับ

โจทก์โดยคณะกรรมการโจทก์ได้มีมติให้ฟ้องคดีนี้กับจำเลยทั้งสอง และมีมติให้มอบอำนาจให้นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิโจทก์ เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์    รายละเอียดปรากฏความตามสำเนาหนังสือรายงานการประชุมสามัญประจำปี    และสำเนาหนังสือมอบอำนาจ  เอกสารประกอบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๔  และ  ๕   ตามลำดับ

จำเลยที่ ๑   มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจบริการประกันวินาศภัยประเภทการประกันภัยทางทะเล การประกันอัคคีภัย การประกันภัยรถยนต์อุบัติเหตุส่วนบุคคลและอุบัติเหตุโจรภัย มีนายสตีเวน บาร์เน็ต เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานในประเทศไทย รายละเอียดปรากฏความตามสำเนาหนังสือรับรองข้อความที่นายทะเบียนเก็บรักษาไว้ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  พ ศ ๒๕๔๒ เอกสารประกอบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๖

จำเลยที่ ๒   มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด  จดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการประกันภัย วินาศภัย เดิมได้จดทะเบียนครั้งแรกชื่อบริษัทไพศาลประกันภัย จำกัด ต่อมาได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอ,ไอ,จี ประกันวินาศภัย(ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๙  และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชาร์ทิส ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด  เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒  มีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัทเพื่อให้มีผลผูกพันบริษัทได้กับบุคคลภายนอก ส่วนการลงนามในกรมธรรม์ประกันภัย หรือในการทำสัญญาประกันต่อบริษัทต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศหรือการลงนามในเอกสารติดต่อกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยมีนายปัญญ์ รอดลอยทุกข์เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญ รายละเอียดปรากฏความตามสำเนาหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗

จำเลยทั้งสองเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ชาร์ทิส อิงค์ และร่วมประกอบธุรกิจโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน  รายละเอียดปรากฏตามหนังสือ เรื่องข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ กับ บริษัท ชาร์ทิส ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๘

จำเลยทั้งสอง จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ตามความใน มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค  พ.ศ.๒๕๕๑

ข้อ ๒. เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒  โจทก์ได้ตกลงทำสัญญาคุ้มครองประกันภัยรายย่อย เพื่อเป็นการประกันภัย อัคคีภัย และภัยพิเศษไว้กับจำเลยทั้งสอง ตามกรมธรรม์เลขที่ ๒๒๐๐ เอ ๑๕๑๗๙ ที่ อาคารเลขที่ ๔/๒ ซอยวัฒนโยธิน(ราชวิถี ๗) ถนนราชวิถี แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร อันเป็นอาคารสำนักงานของโจทก์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งทรัพย์สินที่โจทก์เอาประกันภัยไว้กับจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้น เป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยในส่วนอาคารเป็นเงินจำนวน  ๑๒.๐๐๐,๐๐๐บาท และเฟอร์นิเจอร์,เครื่องตกแต่งภายในอาคาร,เครื่องใช้ภายในสำนักงานทั้งหมดเป็นจำนวนเงินเอาประกันภัยอีก ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท   รวมเป็นเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น ๑๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท   มีระยะเวลาเอาประกันภัยเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒  สิ้นสุดวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓  โดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกใบเสร็จรับเงินรับชำระเบี้ยประกันภัย จำนวน ๑๖,๐๐๐  บาท ไปจากโจทก์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกกรมธรรม์ประกันภัยให้ไว้กับโจทก์ รายละเอียดปรากฏความตามสำเนาหนังสือกรมธรรม์ประกันภัย และสำเนาใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัย เอกสารประกอบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๙ และ ๑๐ ตามลำดับ

โจทก์จึงเป็นผู้บริโภค ตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑

คดีนี้จึงเป็นคดีระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ จึงเป้นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓

ข้อ ๓  ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม  ๒๕๕๓  ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลาคุ้มครองการประกันภัยของจำเลย ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่อาคารเซ็นเตอร์วันและเพลิงได้ลุกลามมาเผาไหม้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของโจทก์ที่ได้ทำสัญญาประกันภัยเอาไว้กับจำเลยทั้งสองดังกล่าวข้างต้น    ทำให้โครงสร้างอาคารทรัพย์สินดังกล่าวได้รับความเสียหายมาก ห้องทำงานต่างๆ ห้องประชุม ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบปรับอากาศ เครื่องใช้ภายในสำนักงาน,เฟอร์นิเจอร์ตลอดจนเครื่องตกแต่ง ฯลฯ ภายในอาคารต่างๆ ได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้จำนวนมาก    รายละเอียดปรากฏความตามภาพถ่ายความเสียหาย และสำเนาบันทึกประจำวันของสถานีตำรวจพญาไท เอกสารประกอบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑๑ และ ๑๒

ครั้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เพลิงสงบลง โจทก์ได้เข้าตรวจสอบความเสียหายของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ปรากฏว่าทรัพย์สินที่เอาประกันได้รับความเสียหายดังต่อไปนี้

๓.๑   ความเสียหายต่อโครงสร้างอาคาร มีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงให้มีสภาพใช้งานได้ดังเดิม เป็นเงิน ๗,๓๒๘,๙๓๒.๒๙ บาท

๓.๒  ความเสียหายต่ออุปกรณ์ เครื่องใช้ภายในสำนักงาน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องตกแต่งภายในเป็นเงิน ๔,๓๕๔,๕๕๓.๐๐  บาท

๓.๓ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ค่าออกแบบ ค่าจ้างแรงงานในการขนย้าย ๑,๐๔๙,๙๓๓.๒๕ บาท

รวมเป็นเงินค่าเสียหายทั้งสิ้น  จำนวน  ๑๒,๗๓๓,๔๑๘.๕๔  บาท   รายละเอียดโจทก์จะขอนำเสนอในชั้นพิจารณา

ข้อ ๔.      ดังนั้นเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๓  โจทก์เห็นว่าจำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย โจทก์จึงได้มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามไปยังจำเลยที่ ๑    เพื่อให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับโจทก์ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัยที่โจทก์ได้ทำไว้กับจำเลยทั้งสอง   โดยทางไปรษณีย์ตอบรับของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และจำเลยที่ ๑  ได้รับหนังสือบอกกล่าวเช่นว่านั้นแล้วเพิกเฉย และต่อมาในวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวไปถึงจำเลยที่ ๑ อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวข้างต้นแก่โจทก์ โดยทางไปรษณีย์ตอบรับของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด     จำเลยที่ ๑ได้รับหนังสือบอกกล่าวเช่นว่านั้นแล้วก็ยังคงเพิกเฉยไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับโจทก์ตามสัญญา รายละเอียดปรากฏความตามสำเนาหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๓  และ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ และใบตอบรับของบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด เอกสารประกอบคำฟ้องหมายเลข ๑๓ , ๑๔ และ ๑๕ ตามลำดับ

ข้อ ๕     ภายหลังจากโจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงได้ไปร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้มีการไกล่เกลี่ยระหว่างโจทก์กับผู้แทนจำเลยทั้งสองถึง ๔ ครั้ง ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔  ตัวแทนจำเลยทั้งสองได้ชี้แจงว่า ได้พิจารณาข้อเสนอของโจทก์แล้ว ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอจ่ายเงินช่วยเหลือร้อยละ ๓๐  ของความเสียหายจำนวน ๙,๘๐๘,๕๔๙ บาท ได้และยืนยันช่วยเหลือจำนวนเงิน ๑,๐๕๐,๐๐๐ บาท โดยบังคับให้โจทก์ยุติเรื่องทั้งหมด ไม่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสองอีก  รายละเอียดปรากฏตามบันทึกการเจรจาไกล่เกลี่ย ของฝ่ายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ฉบับลงวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๔, ๒๘ มกราคม ๒๕๕๔ , ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ และ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ จำกัด เอกสารประกอบคำฟ้องหมายเลข ๖

การที่จำเลยทั้งสอง ในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน กลับฝ่าฝืนหลักการในการช่วยเหลือเบื้องต้นของบริษัทประกันภัยต่อผู้ที่ได้รับความเสียหาย ตามหลักการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย มีเจตนาเอาเปรียบโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและจงใจให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เอาความเดือดร้อนเสียหายของโจทก์เป็นข้อต่อรองโดยปราศจากธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR)  โดยเสนอเงินช่วยเหลือให้จำนวนหนึ่งและบังคับให้โจทก์ยุติเรื่องทั้งหมด และโจทก์ในฐานะผู้บริโภค และในฐานะองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ เห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่คำนึงถึงความเสียหายอันแท้จริงที่โจทก์ได้รับ จงใจให้โจทก์ไม่ได้รับการเยียวยา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมากขึ้น เจตนาเอาเปรียบโจทก์โดยไม่เป็นธรรม และกระทำขัดต่อหลักการของหน่วยงานที่กำกับดูแล ชอบที่ศาลจะพิจารณาค่าเสียหายเพื่อการลงโทษด้วย

การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำผิดสัญญา โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย    จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ร่วมกันต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับโจทก์เป็นเงินจำนวน ๑๒,๗๓๓,๔๑๘.๕๔   บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่  ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๓จนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน  ๙๘๙,๔๙๒.๗๓ บาท  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๓,๗๒๒,๙๑๑.๒๗ บาท  ซึ่งโจทก์ขอถือเอาเป็นทุนทรัพย์ในคดีนี้

มูลคดี เกิดที่ อาคารเลขที่ ๔/๒ ซอยวัฒนโยธิน แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้

โจทก์ไม่มีหนทางอื่นใดที่จะบังคับเอากับจำเลยทั้งสองได้จึงต้องนำคดีนี้มาฟ้องร้องต่อศาล  เพื่อหวังขอเอาบารมีของศาลเป็นที่พึ่งต่อไป                                             .

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

พิมพ์ อีเมล