ลูกค้าโลว์คอสร้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดนเลื่อนเที่ยวบิน ขอคืนเงินค่าตั๋วไม่ได้

ลูกค้าสายการบินโลว์คอสแห่ร้องผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดนสายการบินบอกเลื่อนการเดินทางบ่อยครั้ง ทำให้ธุรกิจการงานเสียหาย ซ้ำถูกมัดมือชกโดนบังคับให้ซื้อตั๋วใหม่ที่แพงกว่าและไม่ยอมคืนเงินค่าตั๋วเดิมให้



Consumerthai - วันนี้ (23 ส.ค.2553) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(สำนักงานชั่วคราว) อาคารเซนจูรี่ มูฟวี่ ชั้น 6 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผู้ใช้บริการสายการบินภายในประเทศราคาประหยัด ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากว่า ถูกสายการบินแจ้งเลื่อนเที่ยวบินโดยไม่มีคำชี้แจงใด ๆ หลายรายเจอปัญหาโดนเลื่อนเที่ยวบินหลายครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในเชิงทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า

“อย่างเช่น ผู้ที่จะไปท่องเที่ยวจะต้องกำหนดวันหยุดพักลางาน ติดต่อสถานที่พัก แต่เมื่อถูกยกเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบินจึงทำให้ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ตามที่ตั้งใจ ส่วนที่ผู้ประกอบธุรกิจนั้นมีความเสียหายอย่างชัดเจนในทางธุรกิจ หลายรายที่มีการจองตั๋วเดินทางต่อเมื่อถูกบอกเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบินก็ต้องรับภาระในการแจ้งเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบินถัดไปด้วย”

นายอิฐบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การแจ้งเลื่อนเที่ยวบินของพนักงานสายการบินราคาประหยัด ส่วนใหญ่จะไม่มีการให้ข้อมูลกับผู้โดยสารที่จองตั๋วไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะมีสิทธิที่จะยกเลิกการจองตั๋วและขอเงินค่าตั๋วที่ได้จ่ายไปแล้วคืนได้หรือไม่ อย่างไร นอกจากแจ้งให้ผู้โดยสารต้องใช้สิทธิในการเปลี่ยนเป็นเที่ยวบินใหม่เท่านั้น จะไม่มีการยกเลิกหรือคืนเงินให้ การแจ้งยกเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบินตามอำเภอใจ โดยไม่ใช่เหตุสุดวิสัย และจงใจที่จะปฏิเสธการคืนเงินให้แก่ผู้โดยสารลักษณะนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้โดยสารอย่างร้ายแรง เพราะกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศรับรองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยที่ใช้เส้นทางบินประจำภายในประเทศไว้อย่างแจ้งชัดซึ่งสายการบินต่างๆ จะต้องทราบถึงมาตรการการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารเป็นอย่างดีว่า เมื่อมีการยกเลิกเที่ยวบินที่ผู้โดยสารได้จ่ายเงินซื้อตั๋วไปแล้ว หากผู้โดยสารไม่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินผู้โดยสารมีสิทธิได้รับคืนเงินค่าโดยรสารและเงินค่าธรรมเนียมต่างๆเต็มตามจำนวนที่จ่ายไป ภายในเวลาไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่ผู้โดยสารแจ้งขอคืนค่าโดยสาร และการคืนเงินแก่ผู้โดยสาร สายการบินจะคืนเป็นเงินสด หรือโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือเช็คธนาคารก็ได้ แต่หากจ่ายเป็น Travel vouchers หรือเป็นบริการอื่นๆแทนจะต้องให้ผู้โดยสารลงนามตกลงยินยอมด้วย จะมากำหนดเป็นกติกาฝ่ายเดียวไม่ได้

“การแจ้งยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสาร หากไม่ใช่เลิกเที่ยวบินเพราะเหตุสุดวิสัย อย่างเช่นสถานการณ์ทางการเมืองหรือปัญหาสภาพอากาศ สายการบินจะต้องแจ้งให้ผู้โดยสารทราบก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หากแจ้งน้อยกว่านี้ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับเงินชดเชยจำนวน 1,200 บาทจากสายการบิน แต่หากได้รับแจ้งภายในกำหนดก่อน 3 วันเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่สายการบินจะอาศัยช่องทางนี้อยู่แล้ว ขอยืนยันว่าผู้โดยสารมีสิทธิเลือกที่จะเปลี่ยนวันเวลาการเดินทางหรือบอกยกเลิกสัญญาการจองตั๋วและขอคืนเงินเต็มจำนวนก็ได้ และหากจะขอเปลี่ยนวันเวลาการเดินทางหากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ผู้โดยสารไม่จำเป็นต้องต้องรับภาระค่าโดยสารหรือค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และหากเที่ยวบินที่เปลี่ยนมีค่าโดยสารที่ต่ำกว่าค่าตั๋วเดิม สายการบินจะต้องคืนค่าโดยสารส่วนต่างนี้ให้กับผู้โดยสารด้วย สำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากสายการบินสามารถแจ้งเรื่องมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เบอร์โทรศัพท์ 02248-3733 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิฯที่ www.consumerthai.org ได้ตลอดเวลา” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้ประกาศเรื่อง สิทธิของผู้โดยสารซึ่งใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2550 เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารซึ่งเป็นผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่เป็นธรรมจากผู้ประกอบธุรกิจการค้าขายในการเดินอากาศของไทย โดยให้ประกาศนี้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศของผู้ประกอบกิจการค้ายขายในการเดินอากาศของไทยทุกราย สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้เป็นการกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้โดยสารและสายการบินของไทยที่จะได้รับความคุ้มครองใน 3 กรณี คือ 1. ถูกสายการบินปฏิเสธการขนส่ง(Denied Boarding)  2. ถูกยกเลิกเที่ยวบิน (Fight Cancellation) และ 3. กรณีทำการบินเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดในตารางการบินที่ประกาศไว้(Filght Delay) เกินควร

พิมพ์ อีเมล