ภาคีเครือข่ายผู้บริโภคประชุมสมัชชา ดันองค์กรอิสระ เปิดทางประชาชนมีส่วนร่วมออกกฎหมาย แก้ปัญหาอาหารไม่ปลอดภัย

ภาคีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค จัดประชุมสมัชชา ระดมความคิดคุ้มครองสิทธิ ดันจัดตั้งองค์การอิสระ เปิดช่องให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมออกกฎหมาย ตรวจสอบ ดูแลการผลิตอาหารให้ปลอดภัย

 

วันที่ 26 เมษายน ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี มีการจัดการประชุมสมัชชาผู้บริโภค “เงินของเรา สิทธิของใคร” โดยภาคีเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค ในงานมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อติดตามความคืบหน้า ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค และการให้ความเห็นต่อนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญ หนึ่งในหัวข้อที่ได้รับการยกมาพูดถึงคือ การให้ความเห็นนโยบายความปลอดภัยด้านอาหาร

นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ให้ความเห็นต่อนโยบายเรื่องนี้ โดยชี้ให้เห็นว่าปัญหาการเจ็บป่วยจากการบริโภคอาหาร เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ด้านความไม่ปลอดภัยของอาหารมีอยู่มากมาย เช่นอาหารไม่บริสุทธิ์ ปนเปื้นสารพิษ สารเคมี จุลินทรีย์  ปัญหาการแสดงฉลากที่ไม่ครบถ้วน เป็นเท็จ การโฆษณาสรรพคุณที่เกินจริง หรือผลิตภัณฑ์ปลอม ซึ่งถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค

 

นางสาวทัศนีย์ ยังให้ความเป็นต่อนโยบายที่จะใช้ในการแก้ปัญหาข้างต้นว่า ควรมีความร่วมมือของฝ่ายสำคัญ 3 ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายผู้ผลิตอาจเป็นเกษตรกรรายย่อย หรือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ผุ้บริโภค และกฎหมาย ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการจัดการปัญหาความปลอดภัยด้านอาหาร และควรการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค

 

“องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคนี้ จะสามารถช่วยให้ผู้บริโภคเข้าไปมีสิทธิ์ มีเสียงตรวจสอบมาตรการต่างๆ ก่อนจะออกมาและส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค เช่นการออกแบบฉลาก การกำหนดนโยบายภาษีการนำเข้าสินค้าที่อาจไม่ปลอดภัย ซึ่งกลไกเหล่านี้ปกติคือหน้วยงานรัฐจะเป็นผู้ควบคุมที่ต้นทาง ส่วนปลายทางคือผู้บริโภค ไม่ค่อยจะมีนักที่ผู้บริโภคจะเข้าไปร่วมเสนอแนวคิดตั้งแต่ต้นทาง”

 

นอกจากนี้นางสาวทัศนีย์ ยังกล่าวถึงนโยบายที่เป็นความร่วมมือของ3 ฝ่ายที่สำคัญ ข้ออื่นๆ อันได้แก่ การส่งเสริมใหเกิดความเข้มแข็งของผู้บริโภคด้านกลไกการรายงาน สนับสนุนการติดตามความปลอดภัยและคุณภาพด้านอาหาร นอกเหนือจากการรอผลจากภาครัฐ  การสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมส่งเสริมผู้ผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย เข้าถึงสินค้าเหล่านี้ได้ง่าย  พัฒนาความร่วมมือและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ โดยร่วมตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า

ส่วนด้านกฎหมาย ควรทำให้กฏหมายมีบทลงโทษเข้มงวด รุนแรงและทันการณ์  นอกจากนี้ยังมีนโยบายเฉพาะด้าน เช่น เรื่องฉลาก ซึ่งเป็นเครื่องมือแรกในการตรวจสอบสินค้าและบริการ ควรการออกแบบฉลากให้ดูได้ง่าย และมีคุณประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค หรือการกำหนดวันหมดอายุในอาหาร ควรมีภาษาไทยกำกับ และทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

ด้านดร.ทิพย์วรรณ  ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ให้ความเห็นต่อข้อเสนอนโยบายเรื่องการผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคว่า ความจริงแล้วอย.ต้องการองค์การพันธมิตรมาช่วยเรื่องต่างๆ อยู่มาก  ถ้าการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระจะทำให้ทุกคนมาทำงานร่วมกันก็จะเป็นการดี

 

ซึ่งดร.ทิพวรรณได้เสนอ โมเดลผีเสื้อ หรือรูปแบบการร่วมกันทำงานของผู้เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว โดยแกนกลางหรือลำตัวของผีเสื้อ จะแบ่งเป็นสามส่วนหลักๆ คือแกนนำที่มีความรู้ มีประสบการณ์ คอยจัดการในระดับพื้นที่ เช่นในชุมชน ขยายออกสู่จังหวัด ภูมิภาค และระดับประเทศ  มีตัวขับเคลื่อน เป็นทีมงานหรือสมาชิกองค์กรที่ และมีฐานความรู้

 

ส่วนปีก คือเครือข่ายทั้งภายในและ ภายนอกองค์กร  ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมโยงให้การนำเสนอปัญหาในส่วนชุมชน จังหวัด ถูกกลั่นกรองเป็นระบบ และเสนอแนะในเชิงนโยบายได้

 

“การดำเนินการในลักษณะนี้ทำให้เรารู้ว่าเรามีปัญหาอะไร โจทย์เราคืออะไร เราจะนำมาคุยกัน สังเคราะห์ปัญหาแล้วนำมาแก้ไขอย่างเป็นระบบ ถือเป็นการสร้างองค์กรอิสระที่มีความเป็นมืออาชีพ สามารถเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนสังคมได้ ” ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร

พิมพ์ อีเมล