เหยื่อ"ซานติก้า" งัดก.ม.ผู้บริโภคฟ้องเรียก5ล้าน

เหยื่อไฟไหม้ "ซานติก้า" งัดกฎหมายผู้บริโภคใหม่ ยื่นฟ้องรวดผู้ถือหุ้น กรรมการผู้จัดการ ให้เหตุประมาท เลินเล่อ ไม่ลงทุนระบบป้องกันอัคคีภัย

รับลูกค้าเกินจำนวนมาตรฐานความปลอดภัย เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 5.26 ล้านบาท หวังเป็นคดีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐาน จ่ายค่าเสียหายทางจิตใจ

 

ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้ บริโภค พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริโภคบางส่วนที่ถูกละเมิดได้เริ่มใช้สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง ภายใต้กฎหมายยื่นฟ้องร้องผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด ในวันนี้ ลูกค้าที่อยู่ในเหตุการณ์ไฟไหม้ร้านซานติก้า เมื่อคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551 ได้ยื่นฟ้องตั้งแต่ ผู้ถือหุ้น ไปจนถึงกรรมการผู้จัดการ ร้านซานติก้าทั้งหมดรวม 31 คนต่อศาลแพ่ง ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหายคิดเป็นจำนวนทุนทรัพย์ 5,260,000 บาท

 

ในรายละเอียดคำฟ้อง นายสันติสุข มะโรงศรี เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องผู้ถือหุ้นร้านซานติก้า ได้แก่ นายวิสุข เสร็จสวัสดิ์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ และผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ และนายสุริยา ฤทธิ์ระบือ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไวท์ แอนด์ บราเธอร์ ตามลำดับ รวมทั้งหมด 31 คน โดยระบุว่าโจทก์เป็นคนหนึ่งที่ได้ตกอยู่ในเหตุการณ์ไฟไหม้ร้านซานติก้าผับ และได้รับบาดเจ็บ ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2551

 

ทั้งนี้ คำฟ้องระบุว่า การกระทำของจำเลย เป็นการละเลย หรือประมาทเลินเล่อ ไม่คุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปใช้บริการในธุรกิจของตัวเอง โดยไม่มีมาตรการระบบป้องกันอัคคีภัย ไม่มีระบบตรวจจับความร้อนและควันไฟ ไม่มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ไม่มีระบบไฟแสงสว่างฉุกเฉินในพื้นที่บริการ, ไม่พบป้ายทางหนีไฟ ไม่มีแผนผังทางหนีไฟ ไม่มีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เป็นต้น, มุ่งแสวงหากำไรโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้บริโภค รับลูกค้าเกินจำนวนมาตรฐานความปลอดภัยของอาคาร, ละเว้นไม่ลงทุนวางระบบป้องกันอัคคีภัย, ไม่ทำประกัน ซึ่งไม่นำพาว่าจะเกิดความเสียหายอาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภค จึงทำให้มีคนตายจากเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

 

คำฟ้องระบุว่าการกระทำของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในฐานะผู้บริโภค จึงขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายดังนี้ 1.ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นจำนวน 5,000 บาท 2.ค่าเสียเวลาโอกาสการทำงาน ระหว่างเจ็บป่วย จำนวน 5,000 บาท 3.ค่ารักษาอาการอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จากการสูดควันไฟเข้าไป จำนวน 2.5 แสนบาท และ 4.ค่าเสียหายทางจิตใจ ที่มีผลกระทบต่อหน้าที่การทำงาน หากประเมินโอกาสจะเกิดจากความเสียหาย ที่ตอนนี้โจทก์มีอายุ 30 ปี มีรายได้เดือนละ 3 หมื่นบาท ในระยะเวลาที่เหลืออีก 30 ปี ทำให้สูญเสียรายได้จำนวนมาก คิดเป็นจำนวน 5 ล้านบาท รวมยอดเงินตามฟ้อง ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,260,000 บาท

 

ท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลสงวนสิทธิ์ หากโจทก์ตรวจพบอาการเรื้อรังทางปอด แม้ไม่มีอาการปรากฏ ณ วันนี้ ขอให้ศาลสงวนสิทธิ์แก้ไขคำพิพากษา ในกรณีที่พบความเสียหายเกิดขึ้นจากนี้ไป 10 ปี

 

"ผมหวังว่า การฟ้องคดีผู้บริโภค จะเป็นบรรทัดฐานของการจ่ายค่าความเสียหายทางจิตใจ เพราะยังมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้ใช้แล้ว และสามารถฟ้องได้รวดเร็ว และง่าย"

 

อย่างไรก็ดี พบว่า ขณะนี้ ภาคธุรกิจกำลังให้ความสนใจกับการใช้กฎหมายใหม่ดังกล่าวมากขึ้น เนื่องจากเปิดช่องให้ผู้บริโภคฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ทันที

 

- กรุงเทพธุรกิจ 20-01-52

พิมพ์ อีเมล