กดปุ่มทีวี (ไทย) โกดิจิทัล กสทช.จะเลือกระบบไหน

กสทช.ประกาศนโยบายชัดในการพาโทรทัศน์ไทยก้าวสู่ระบบดิจิทัล โดย "พ.อ.นที ศุกลรัตน์" กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) ระบุถึงแผนการก้าวสู่ดิจิทัลว่า ส.ค.นี้จะเริ่มกระบวนการออกใบอนุญาตสำหรับโทรทัศน์ระบบดิจิทัล มีเป้าหมายแพร่ภาพเต็มรูปแบบภายใน 4 ปี และกดปุ่มยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อก ม.ค. 2558

สิ่งที่หลายคนอยาก รู้คือ ไทยจะเลือกแพร่ภาพดิจิทัลทีวีระบบใด ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้เลือก แต่ถ้าเลือกแล้ว กสทช.จะระบุไว้ในแผนเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งจะนำออกประชาพิจารณ์ มิ.ย.นี้

ดิจิทัลทีวีที่มีการใช้งานทั่ว โลกมี 5 ระบบ 1.ATSC (Advanced Television Systems Committee) ของสหรัฐอเมริกา 2.DVB-T (Digital Video Broadcasting) 3.ระบบ DVB-T2 (Digital Video Broadcasting) ของยุโรป 4.ระบบ ISDB (Integrated Services Digital Broadcasting) ของญี่ปุ่น และ 5.ระบบ DTMB (Digital Terrestrial Multimedia Broadcast) ของจีน

ความแตกต่างของแต่ละระบบ "ปริตา วงศ์ชุตินาท" รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรฐาน และเทคโนโลยีกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช.อธิบายว่า ทุกระบบมีการใช้งานจริงในหลายประเทศทั่วโลก โดย DVB-T ของยุโรปพัฒนาขึ้นเป็นระบบแรกในปี 2536 ออกอากาศเชิงพาณิชย์ปี 2541 มีใช้ในยุโรปและเอเชีย ส่วน ATSC ออกอากาศจริงปี 2542 มีการใช้งานในทวีปอเมริกาเหนือ ระบบ ISDB ของญี่ปุ่น พัฒนาปี 2541 เปิดบริการปี 2546 มีผู้ใช้ในญี่ปุ่นและทวีปอเมริกาใต้ ส่วน DTMB ของจีน พัฒนาปี 2544 เปิดบริการปี 2550 มีการใช้ในบางมณฑลของจีน ขณะที่ DVB-T2 เป็นเจเนอเรชั่นที่ 2 ของ DVB-T ของยุโรป พัฒนาขึ้นในปี 2549 เปิดบริการปี 2553 มีผู้ใช้ในยุโรปและทวีปแอฟริกา

จุดเด่นของทีวีดิจิทัลอยู่ที่ ต้นทุนการให้บริการที่ต่ำกว่า จากผลวิจัยของออสเตรเลียพบว่า ต้นทุนการออกอากาศด้วยระบบเดิมแต่ละปีใช้เงินราว 434,000 เหรียญสหรัฐ หากเปลี่ยนเป็น DVB-T จะเหลือ 79,200 เหรียญสหรัฐ เปลี่ยนเป็น DVB-T2 เหลือ 38,000 เหรียญสหรัฐ ที่สำคัญคือใช้ความถี่ได้มีประสิทธิภาพกว่าแอนะล็อก 2-8 เท่า

เทียบกันแต่ละระบบจากแบนด์วิดท์สำหรับออกอากาศ 1 ช่อง ระบบ ATSC และ ISDB รวมถึง DTMB ใช้แบนด์วิดท์ 6-8 MHz ต่อช่อง ส่วน DVB-T2 ใช้ได้ตั้งแต่ 1.7 MHz 5-8 MHz และ 10 MHz

ประสิทธิภาพในการออก อากาศระบบ ATSC ยังเป็น single carrier ซึ่งด้อยกว่า DVB-T2 และ ISDB ที่เป็น multicarrier แบ่งคลื่นส่งเป็นส่วนย่อย ๆ ให้สลับใช้กรณีเกิดเหตุขัดข้องในส่วนใดส่วนหนึ่ง ต่างจากแบบ single ถ้าช่องสัญญาณส่วนใดเสียหายจะจอมืดทันที ส่วน DTMB ของจีนใช้ผสมทั้ง single และ multicarrier

สำหรับปริมาณข้อมูลที่ส่งได้ต่อวินาทีต่อแบนด์ วิดท์ (8 MHz) ยิ่งส่งได้เป็นจำนวนมาก ๆ แสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้คลื่นความถี่ที่ดีกว่า

จากข้อมูลของ สหภาพโทรคมนาคม (ITU) พบว่า ระบบ ATSC ตั้งแต่ 0.749-3.435 bits ระบบ DVB-T2 ส่งได้ตั้งแต่ 0.669-6.3 bits ระบบ ISDB-T ส่งได้ตั้งแต่ 0.608-3.875 bits ระบบ DTMB ส่งได้ 0.602-4.06 bits เนื่องจากทุกระบบรองรับการแพร่ภาพด้วยความละเอียดแบบมาตรฐาน (SDTV) และความละเอียดสูง (HDTV) หากเทียบประสิทธิภาพจากจำนวนช่องรายการที่ใช้แบนด์วิดท์ 8 MHz นั้น หากเลือกแพร่ภาพแบบ SDTV ระบบ ATSC จะมีช่องรายการได้สูงสุด 9 ช่อง ระบบ DVB ได้ 10 ช่อง เท่ากับ DTMB และ ISDB-T

ส่วน DVB-T2 ได้ 16 ช่อง ถ้าเลือกการแพร่ภาพแบบ HDTV ระบบ ATSC จะได้ช่องรายการความละเอียดสูง 2 ช่อง ระบบ DVB ระบบ DTMB และ ISDB-T ได้ 3 ช่องเท่ากัน ขณะที่ DVB-T2 ได้ 5 ช่องรายการ HD โดยในแบนด์วิดท์ 8 MHz ใช้แพร่ภาพแบบผสมก็ได้ แต่จำนวนช่องจะลดลง

จากข้อมูลของบริษัทโซนี่ ที่ศึกษาและนำเสนอเทรนด์การใช้ดิจิทัลทีวี เพื่อให้อเมริกานำไปปรับปรุงและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความนิยมการแพร่ภาพระบบ HDTV ทำให้ต้องสร้างความจุโครงข่ายสูงขึ้นเพื่อรองรับเทคนิคการผสมสัญญาณ การแบ่งความถี่ระหว่างการใช้แบบประจำที่และโมบาย ระบบ DVB-T2 ของยุโรปรองรับได้ทั้งหมด ต่างจากระบบอื่น

เมื่อพิจารณาถึงการก้าว สู่ประชาคมอาเซียน DVB-T2 มีการใช้ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ส่วนลาวใช้เฉพาะในฟรีทีวี ถ้าเป็นทีวีบอกรับสมาชิกใช้ระบบ DTMB ขณะที่ฟิลิปปินส์เดิมใช้ ISDB แต่กำลังทบทวนใหม่ กัมพูชาเป็นระบบ open

"พ.อ.นที" กล่าวว่า ในที่ประชุมรัฐมนตรีสารสนเทศอาเซียน ปี 2550 เคยมีมติสนับสนุนให้ระบบ DVB-T เป็นมาตรฐานดิจิทัลของอาเซียน และปีที่ผ่านมาสนับสนุนให้ประเทศที่มีความพร้อมไปสู่ DVB-T2

"การ ตัดสินใจเลือก กสทช. เน้นที่คุณภาพการส่งสัญญาณและต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องรับภาระ ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านขึ้นอยู่กับการขยายโครงข่ายดิจิทัลทีวีให้ครอบ คลุมได้รวดเร็วแค่ไหน การปรับตัวของผู้บริโภค หากกระแสตอบรับดี อาจทำให้อุปสรรคสำคัญคือระยะเวลาสิ้นสุดสัมปทานทีวีเดิมที่ยังเหลือเวลา อีกกว่า 10 ปี หมดไปก่อนเวลา เพราะดิจิทัลต้นทุนถูกกว่าหลายเท่า การสนับสนุน set-top-box อาจแจกทั้งหมด บางส่วน หรือให้ส่วนลด"

"พ.อ.นที" กล่าวต่อว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลใน 3 ปีจากนี้จะกระตุ้นให้เม็ดเงินสะพัดกว่าแสนล้านบาท เริ่มตั้งแต่การสร้างโครงข่าย คาดว่าต้องใช้เงินกว่าหมื่นล้าน การผลิตและซื้อ set-top-box และหมื่นล้านบาทที่เหลือเป็นการลงทุนปรับตัวของผู้ประกอบการ รวมถึงค่าไลเซนส์

"ใบอนุญาตใช้คลื่นด้านบรอดแคสต์เพื่อสาธารณะ กสทช.ให้ได้โดยไม่ต้องเปิดประมูล ใช้ beauty contest แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าแต่ละรายจะมีใบอนุญาตได้กี่ใบ"

ใบอนุญาตมี 4 ประเภทคือ ใบอนุญาตให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวก (infrastructure) จะเป็นใบอนุญาตแรกที่ให้ได้ใน ส.ค. ขณะที่ใบอนุญาตให้บริการโครงข่าย รวบรวมสัญญาณ อาทิ ผู้ให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียม และใบอนุญาตให้บริการ รวบรวมช่องรายการ และใบอนุญาตให้บริการแอปพลิเคชั่น จะทยอยออกในไตรมาส 3 จำนวนช่องรายการที่ตั้งเป้าไว้ไม่ต่ำกว่า 50 ช่อง ประเมินตามจำนวนแบนด์วิดท์ ความถี่ UHF ที่นำมาใช้งานได้ทันที โดยไม่มีผลกระทบสัญญาหรือสัมปทานฟรีทีวีเดิม

29 พ.ค. 2555 เวลา 09:34:30 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

พิมพ์ อีเมล