ชะลอขึ้นราคา “แอลพีจี-เอ็นจีวี” ไม่มีกำหนด

ที่ประชุม กพช.มีมติ ให้ชะลอขึ้นราคาก๊าซ “แอลพีจี-เอ็นจีวี” ไม่มีกำหนด เพราะเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย และกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน

ส่วนค่าโง่นำเข้าก๊าซ “แอลพีจี” ในราคาแพง เมื่อปี 51 จำนวน 9 พันล้าน ให้นำเงินกองทุนน้ำมันฯ เอาไปทยอยจ่ายชดเชย โดยไม่กำหนดระยะเวลา
       

       การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) บ่ายวันนี้ ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติให้ชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และก๊าซเอ็นจีวี ออกไปโดยไม่มีกำหนด ให้เหตุผลเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมเห็นชอบแผนพัฒนากำลังไฟฟ้า (พีดีพี) 15 ปี ฉบับใหม่ เลื่อนกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 6,000 เมกะวัตต์ และลดวงเงินลงทุน 460,000 ล้านบาท
       
       นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวแถลงภายหลักงการประชุม โดยระบุว่า กพช.เห็นชอบเรื่องดังกล่าว เนื่องจากเห็นร่วมกันว่า ในขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หากปรับราคาแล้ว ประชาชนจะได้รับผลกระทบ โดยจะชะลอไปเมื่อใดนั้น ก็แล้วแต่ช่วงเวลาที่เหมาะสม
       
       ส่วนหนี้การนำเข้าก๊าซแอลพีจีของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่นำเข้ามาในปี 2552 ประมาณ 9,000 ล้านบาทนั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้นำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปทยอยชดเชย เพื่อใช้หนี้ ซึ่งในขณะนี้เงินกองทุนมีประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่จะเริ่มใช้หนี้เมื่อใด ก็ดูในช่วงเวลาเหมาะสมเช่นกัน ซึ่งคงต้องไปเร่งฟันส่วนต่างค่าการตลาดในแต่ละเดือน เพื่อนำเงินมาโปะกองทุน แม้จะเป็นเบี้ยหัวแตก แต่ก็ดีกว่าไม่ได้
       
       ทั้งนี้ รมว.พลังงาน ได้เสนอให้ที่ประชุมแยก 2 ราคาแอลพีจี แต่ที่สุด กพช.ก็เห็นชอบให้ตรึงราคาต่อไป โดยในปีนี้ กระทรวงพลังงาน ประเมินว่า ไทยจะต้องมีการนำเข้าแอลพีจีประมาณ 3,300 ตันต่อเดือน โดยให้ ปตท.รับภาระนำเข้าไปก่อน เพราะคาดว่าความต้องการใช้จะมีประมาณ 360,000 ตันต่อเดือน จากกำลังผลิตของประเทศอยู่ที่ประมาณ 335,000 ตันต่อเดือน
       
       ในขณะที่เอ็นจีวีเดิมนั้น กพช.เคยมีมติให้ปรับราคาจาก 8.50 บาท ต่อกิโลกรัม เพิ่มเป็น 12 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2552 ซึ่งการไม่ปรับขึ้นเอ็นจีวี ทำให้ ปตท.รับภาระเพิ่มประมาณ 4,000 ล้านบาทต่อปี เพราะราคาต้นทุนสูงกว่าราคาจำหน่าย โดยราคาต้นทุนเฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ประมาณ 12 บาทต่อกิโลกรัม และที่ผ่านมานั้น ปตท.รับภาระขาดทุนการจำหน่ายเอ็นจีวีไปแล้วรวม 8,000 ล้านบาท
       
       รมว.พลังงาน ยังกล่าวด้วยว่า ในเรื่องของแผนพีดีพี เป็นการปรับปรุงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยอิงกับตัวเลขประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่คาดว่า เศรษฐกิจปี 2552-2553 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 2 จึงคาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะชะลอตัวไปด้วย ดังนั้น ตามแผน 15 ปี จึงชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่รวม 6,000 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุนรวม 460,000 ล้านบาท
       
       ทั้งนี้ โครงการที่ต้องชะลอไป ประกอบด้วย 1.เลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าไอพีพี 1 ปี ของโรงไฟฟ้าเพาเวอร์เจเนอเรชั่นและสยามเอ็นเนอร์ยี่ รวมกำลังผลิต 3,200 เมกะวัตต์ 2.เลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คือ โรงไฟฟ้าวังน้อย และบางปะกง กำลังผลิตรวมประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ เลื่อนออกไป 2 ปี
       
       3.เลื่อนการรับซื้อโรงไฟฟ้าจาก ส.ป.ป.ลาวไป 2 ปี จากเดิมจะเข้าระบบในปี 2556-2557 จำนวน 5 โครงการ รวม 4,200 เมกะวัตต์ 4. ลดปริมาณก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหลือเพียง 2,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 4,000 เมกะวัตต์ และ 5. ปลดโรงไฟฟ้าเก่าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่อายุมากกว่า 30 ปี จำนวน 3-4 โรง
       
       นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบเรื่องการเกลี่ยเงินรายได้ของ 3 การไฟฟ้า เพื่อให้ค่าไฟฟ้าทั่วประเทศมีอัตราเดียวกัน โดยปี 2552 การไฟฟ้านครหลวงต้องจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมประมาณ 12,000 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 3 เครือข่ายใช้ LPG ยื่นหนังสือค้าน กพช.ขึ้นราคาก๊าซ 2 บาท
- “รสนา” ค้านปรับขึ้นราคา

- กระทรวงพลังงานชงแผนขึ้นแอลพีจีภาคขนส่ง

พิมพ์ อีเมล