สคบ.ปรับ เพย์ออล1.8 ล้าน ผิดพ.ร.บ.ขายตรง

เขียนโดย ศูนย์ข่าวผู้บริโภค. จำนวนผู้ชม: 3949

600223 payall
สคบ.ปรับ "เพย์ออล" 1.8 ล้าน ฐานไม่ปฏิบัติตามแผนการจ่ายผลตอบแทนธุรกิจขายตรง ผู้ได้รับเสียหายสามารถไปร้องทุกข์กล่าวโทษได้

พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา สคบ.ได้เรียกผู้บริหาร เพย์ออล กรุ๊ปประกอบด้วยกรรมการ 5 คน คือนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ นายภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์ นายธเนศ จัดวาพรวนิช นางสุภัส ฐิณี ศรีสะอาด และนายชนะศักดิ์ ศรีสะอาด มาพบที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เพื่อชี้แจงและได้เปรียบเทียบปรับกับบริษัทและกรรมการ 5 คน รายละ 3 แสนบาท รวมเป็นเงิน 1.8 ล้านบาท หลังตรวจสอบพบว่าการประกอบธุรกิจขายตรงของบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ไม่ปฏิบัติตามแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ได้ยื่นขอจดไว้ต่อ สคบ. ซึ่งเป็นนายทะเบียนถือเป็นความผิดมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2555 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 3 แสนบาท

เลขาฯ สคบ. กล่าวด้วยว่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ สคบ. พิจารณาแล้วเห็นว่า การประกอบธุรกิจขายตรงของบริษัทเพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ไม่ปฏิบัติตามแผนการจ่ายผลตอบแทนที่ได้ยื่นขอจดไว้ต่อนายทะเบียนจึงเปรียบเทียบความผิดบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และกรรมการผู้กระทำความผิดซึ่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้เรียกกรรมการของบริษัททั้ง 5 รายมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ทุกคนยินยอมให้เปรียบเทียบความผิดเต็มตามอัตราโทษและได้จัดทำบันทึกให้กรรมการบริษัทฯ ลงนามเป็นหลักฐานยินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่สมาชิกทุกคนไว้ส่วนหนึ่งแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ บก.ปอศ. และบก.ปคบ. หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด กับพวกในข้อหาอื่นแต่อย่างใด แต่ในชั้นนี้ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวยังไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ในขณะเดียวกัน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยโดยนายพฤทธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป ต่อ กองบังคับการปราบปรามอาชญา กรรมทางเศรษฐกิจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากตรวจพบว่า บริษัทฯได้เปิดให้บริการแอปพลิเคชัน บนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ PayAll โดยไม่ใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยรูปแบบให้บริการจะให้ สมัครเป็นสมาชิกใน แอปพลิเคชัน และเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนนำเงินนั้น ไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่าง ๆ ที่กำหนด มีลักษณะเป็นการให้บริการ e-Money เข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต

มีความผิดตามกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ประกอบพระราชกฤษฎีว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.ฎ. e-payment และ ความผิดตามประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 58 เรื่อง การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์ โทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือ ทั้งจำและปรับ หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนจะสืบสวนสอบสวนก่อนฟ้องคดีต่อไป

 

ขณะนี้บริษัทได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ลงชื่อ ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ โดยระบุว่าพร้อมจะชี้แจงและปรับปรุงตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย และจะปิดช่องทางการเติมเงินจนกว่าจะถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ 21 กุมภาพันธ์

อย่างไรก็ตามสำหรับประชาชนที่กำลังสนใจสมัครใช้บริการอี-มันนี่ผ่านแอฟพลิเคชัน ให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตจากเว็ปไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ สายด่วน 1213 และผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถเข้ายื่นเรื่องได้ที่ สคบ.

 

อ้างอิงข้อมูลจาก เว็บไซต์บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ Voicetv 
ภาพประกอบจาก internet

พิมพ์