ผู้บริโภคหนุนตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ ในเวทีรับฟังความเห็นเรื่องกฎหมายผู้บริโภค ครั้งที่ 4

601206 news 03
6 ธ.ค.60 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ "ร่างกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระอำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคและการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560"



จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งจัดมาแล้ว 3 ครั้งนั่นคือ ครั้งที่ 1 จ.ขอนแก่น ครั้งที่ 2 จ.สงขลา ครั้งที่ 3 จ.เชียงใหม่ และครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ โดยมีพลเอกสุชาติ หนองบัว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการเปิดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อนำความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนไปปรับปรุงเนื้อหาของกฎหมายให้มีความสมบูรณ์ก่อนจะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ

คลิกอ่านอ่านร่างกฎหมาย https://goo.gl/nTTFvx 

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กม.นี้ผลักดันกันมาถึง 20 ปี ผ่านไปถึง 3 รัฐบาล ซึ่งมุมมองในการจัดตั้งองค์กรนี้มี 3 ประเด็น
"อยากให้องค์กรนี้เป็นอิสระทั้งจากการเมือง ทุน รวมถึงรัฐบาล แต่ยังคงร่วมมือกับภาครัฐอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม จากการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในภาคต่างๆชื่อ กฎหมายนี้ขอสนับสนุนสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ อีกประเด็นที่สำคัญก็คือนิยามความเป็นผู้บริโภค ต้องชัดเจนและตีความให้ชัด"

พร้อมให้ความคิดเห็นต่อประเด็นเรื่องคณะกรรมการว่า สัดส่วนของคณะกรรมการที่มีจากเขตควรจะมีมากกว่าคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นตัวแทนจากผู้บริโภคที่เลือกเข้ามา อยากให้ตระหนักถึงวิธีการเลือกสรรคณะกรรมการที่จะทำให้คณะกรรมการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างจริงจัง ซึ่งหวังอย่างมากว่ากฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งและเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคในอนาคตด้วย

นายพงษ์ภัทร หงส์หิรัญ ตัวแทนผู้บริโภคจากจังหวัดสมุทรสงคราม ให้ความเห็นว่ามาตราที่ 1 นั้น ตนเองเห็นด้วยกับชื่อว่าว่า สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ โดยให้เหตุผลว่าสะท้อนถึงการเป็นองค์กรผู้บริโภคระดับชาติ

นายสุนทร สุริโย ตัวแทนผู้บริโภคจากจังหวัดกาญจนบุรี ให้ความคิดเห็นต่อ มาตรา 20 คำว่าผู้อำนวยการ ขอเปลี่ยนเป็น เลขาธิการ เพราะเป็นองค์กรระดับประเทศ

นายสมชาย กระจ่างแสง ตัวแทนผู้บริโภคจากกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นเงินสนับสนุนแบบรายหัวประชากร ว่า ควรมีการระบุเป็นรายหัวประชากรที่ชัดเจน พร้อมเสนอว่าไม่ควรน้อยกว่า 5 บาทต่อหัวประชากร

601206 news 02

อนึ่งโดยภาพการร่วมรับฟังความคิดเห็น เพิ่มเติมต่อการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์การผู้บริโภคใน 5 ประเด็นสำคัญคือ

ประเด็นที่ 1 ชื่อกฎหมาย
สนับสนุนให้ใช้ชื่อ"สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ" เพื่อสะท้อนถึงสถานะองค์กรที่เป็นพื้นที่ในการรวมตัวและแสดงพลังของผู้บริโภคในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิของตนเอง

ประเด็นที่ 2 ความเป็นอิสระของการสนับสนุนงบประมาณ "งบประมาณแบบรายหัวประชากร"
การสนับสนุนงบประมาณที่รัฐต้องอุดหนุน "แบบรายหัวประชากร" โดยไม่น้อยกว่าหัวละ 5 บาท เพื่อเป็นหลักประกันขั้นต่ำว่าองค์กรจะมีงบเพียงพอต่อการดำเนินการที่เป็นอิสระ และยั่งยืนเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

ประเด็นที่ 3 องค์ประกอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการองค์กรทั้ง 19 คน ควรมีสัดส่วนมาจากผู้เชี่ยวชาญ 9 ด้าน ส่วนอีก 10 คนให้เป็นกรรมการเขตพื้นที่ที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคทั้งประเทศ เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง

ประเด็นที่ 4 อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
คณะกรรมการองค์กรต้องมีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง "สภาผู้บริโภคในระดับเขตพื้นที่และระดับจังหวัด" เพื่อเป็นกลไกในการให้ความช่วยเหลือกับผู้บริโภค รวมถึงดำเนินคดีแบบกลุ่มแทนผู้บริโภค อีกทั้งการเผยแพร่ข้อมูล การให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแก่ผู้บริโภค การเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิ์ต่างๆ การส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาของตนเอง ฯลฯ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความเข้มแข็ง รู้จักปกป้องและคุ้มครองสิทธิ์ของตนได้

ประเด็นที่ 5 สำนักงานและผู้อำนวยการ
ควรแก้ไขตำแหน่งจาก "ผู้อำนวยการองค์กร" ให้เป็นตำแหน่ง "เลขาธิการองค์กร" เพื่อให้มีฐานะและบทบาทเหมือนกับเลขาธิการสำนักงาน สคบ. และเลขาธิการสำนักงานองค์การอาหารและยา (อย.) เป็นต้น

ประเด็นที่ 6 บทเฉพาะกาล
ส่วนใหญ่ เสนอให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เฉพาะในการออกประกาศและคัดเลือกคณะกรรมการ และให้คณะกรรมการเป็นผู้ทำหน้าที่แต่งตั้งเลขาธิการ

โดยการทำร่างประกาศคัดเลือกควรมีกรรมการสรรหา เพื่อทำหน้าที่ออกประกาศคัดเลือกกรรมการ ร่วมกับปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และกรรมการอีก จำนวน 6 คน คือ เลขาธิการ สคบ. เลขาธิการ สช. พอช. นายกสภาการหนังสือพิมพ์ นายกสภาทนายความ และประธานคณะกรรมการองค์กรเอกชน (กป.อพช.) เพื่อให้มีสัดส่วนของตัวแทนภาครัฐและประชาชนใกล้เคียงกัน ในการสร้างการมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคณะกรรมการ  นอกจากนี้ ก่อนออกประกาศคัดเลือกกรรมการ เสนอให้สำนักงานปลัด และ สคบ. ควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคด้วย

พิมพ์ อีเมล