"สาธิต"รับตั้งองค์กรอิสระ คุ้มครองผู้บริโภคปีหน้า

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 33819

"สาธิต" ระบุปีหน้า "องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค" คลอดแน่ เตรียมเรียกข้อมูลการฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคดู หลังพบ 96% เป็นผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภค ชี้ผิดเจตนารมณ์ ก.ม.ที่วางไว้

นายสาธิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูแลกำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยถึง การจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อการบริโภค ว่า ขณะนี้ ร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ระหว่างการดำเนินการของ กฤษฎีกา เมื่อส่งกลับมายังคณะรัฐมนตรี จะให้มีการจัดประชุมปฏิบัติการ เชิญตัวแทนจากเครือข่ายภาคประชาชน วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือให้ได้ข้อสรุป

ซึ่งคาดว่าไม่เกินเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้บรรจุในวาระการพิจารณาก่อนที่สมัยการประชุมรัฐสภาจะปิดลง คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินครึ่งปี 2553 เพื่อให้กฎหมายออกมาบังคับใช้ ส่วนที่ร่างกฎหมายภาคประชาชนเสนอให้จัดสรรงบประมาณรายหัว 5 บาทต่อคนต่อปีนั้น เป็นการแยกออกจากการพิจารณางบประมาณ เห็นว่าเรื่องนี้รัฐบาลไม่กังวลและพร้อมให้การสนับสนุน หากเป็นประโยชน์และคุ้มครองสิทธิประชาชน เพียงแต่ต้องมีความชัดเจนในการนำไปใช้

นายสาธิต กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ได้มีการออกกฎหมายวิธีพิจารณาคดีเพื่อผู้บริโภค ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองและเร่งรัดการพิจารณาคดีให้กับผู้บริโภคที่ ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการ แต่ที่ผ่านมา ปรากฏว่าสัดส่วนผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องน้อยมาก แต่กลับเป็นผู้ประกอบการที่ใช้กฎหมายนี้ฟ้องผู้บริโภคแทน โดยมีสัดส่วนถึง 96% ซึ่งตนอยู่ระหว่างการเรียกข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาว่าเกิด จากสาเหตุใด เนื่องจากผลที่ได้ผิดไปจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 


 

ทางด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังจากที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคประกาศบังคับใช้ จนถึงขณะนี้เป็นเวลา 6 เดือนแล้ว ปรากฏว่ามีการใช้ช่องทางกฎหมายนี้ฟ้องร้องจำนวนมากถึง 80,000 คดีทั่วประเทศ โดยมูลนิธิช่วยฟ้อง 94 คดี อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายที่ผ่านกฤษฎีกา ซึ่งมีการแก้ไขจากร่างกฎหมายภาคประชาชนนั้น เห็นว่าเป็นการจำกัดอำนาจหน้าที่ขององค์กร ทำให้ไม่สามารถเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลได้

นอกจากนี้ ยังให้ที่มางบประมาณมาจากการพิจารณาของสำนักงบประมาณ ทั้งที่ทางภาคประชาชนเสนอให้แยกออกจากการพิจารณางบประมาณ โดยคิดเป็นค่าเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 5 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งจะได้งบปีละ 300 ล้านบาท มาใช้ในการจัดการ เพราะหากต้องเสนอของบอาจถูกแทรกแซงการทำงานได้ น.ส.สารีกล่าว

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 12-3-52

พิมพ์