'สคบ.'เสนอคสช. ตั้งศูนย์ฯแห่งชาติ

news_img_597079_1

"สคบ."เสนอคสช. ตั้งศูนย์ฯแห่งชาติ รวบ 3 หน่วยงาน "อย.-สมอ.-บก.ปคบ." เป็นหน่วยงานเดียว สคบ.เตรียมเสนอ คสช.ตั้ง "ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ" ดึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกันในหลายหน่วยงานมาอยู่ภายใต้ศูนย์ใหม่ อาทิ อย.-สมอ.-ปคบ. พร้อมผลักดันจัดตั้งสำนักคุ้มครองผู้บริโภคให้ครบ 76 จังหวัด เน้นบูรณาการการทำงาน ระบุอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้คุณภาพครองแชมป์ร้องเรียนอันดับหนึ่ง รองลงมาคือการส่งเอสเอ็มเอสขยะ เตรียมถก 3 ค่ายมือถือสางปัญหาเร็วๆ นี้

นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า สคบ.เตรียมเดินหน้าผลักดันจัดตั้งศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนตามแผนแม่บทของสคบ.

เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการดำเนินงานของหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค กระจัดกระจายขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง ดังนั้นจึงเห็นว่าควรจะนำมารวมกันอยู่ในหน่วยงานเดียว เพื่อความสะดวกในการทำงาน ทำให้การช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวได้หารือกันกับทาง พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ ผู้ดูแลหน่วยงาน ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วในเบื้องต้น โดยเห็นว่าหน่วยงานที่ควรจะมารวมกันในเบื้องต้น ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ปัจจุบันขึ้นตรงต่อกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ที่ปัจจุบันขึ้นตรงกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เนื่องจากทำงานของทั้ง 3 หน่วยงานคล้ายคลึงกันในแง่ของการทำงานกับผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังเดินหน้าผลักดันจัดตั้งสำนักคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดขึ้น เพื่อดูแลประชาชนในแต่ละภูมิภาคอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว แต่ยอมรับว่าอาจจะติดขัดปัญหางบประมาณจากส่วนกลางที่จัดสรรให้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อรัฐบาลชุดใหม่ สคบ.จึงมีแนวคิดที่จะขอความร่วมมือการทำงานกับหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลประชาชน เช่น มูลนิธิดำรงชัยธรรม และสำนักงานยุติธรรมจังหวัด เพื่อให้เข้ามาทำงานร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ สคบ.ที่ถูกส่งไปปฏิบัติงานในแต่ละจังหวัดๆ ละ ประมาณ 3-5 คน ถือเป็นการบูรณาการตามแนวนโยบายของภาครัฐ

สำหรับปัญหาร้องเรียนที่ทางประชาชนร้องเรียนเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือมากที่สุด ก็คือปัญหาเกี่ยวกับด้านที่อยู่อาศัยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยที่พบมากที่สุดคือ การก่อสร้างที่อยู่อาศัย ได้แก่ บ้านเดี่ยว และทาวเฮ้าส์ ที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน อาคารร้าว บ้านทรุด เนื่องจากการตอกเสาเข็มและการก่อสร้างบ้านไม่ได้มาตรฐาน ส่วนคอนโดมิเนียมจะเป็นเรื่องของการโอนเงิน การถูกยึดเงินจอง เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านในระดับล่าง ราคาประมาณ 1 -2 ล้านบาท ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อยูนิต

นอกจากนี้ สคบ.ยังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อแก้ไขปัญหา SMS ขยะที่ถูกส่งเข้ามาในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นปัญหาร้องเรียนรองลงมาจากบ้านที่อยู่อาศัย เช่น เกม ดูดวง ใบ้หวย เป็นต้น ซึ่งเมื่อประชาชนเปิดเข้าไปดู ก็เสียค่าบริการครั้งละ 3-6 บาทต่อหนึ่งข้อความ

โดยเร็วๆ นี้ สคบ.จะเรียกผู้ประกอบการเครือข่ายทั้ง 3 รายได้แก่ ดีแทค เอไอเอส และ ทรู รวมทั้งบริษัทที่เป็นเจ้าของข้อความเหล่านี้ มาหารือ ถึงวิธีการป้องกันและแนวทางแก้ไข เพราะก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายแจ้งว่าไม่สามารถทำได้ หากจะบล็อก SMS ขยะพวกนี้ก็จะทำให้ข้อความอื่นๆ ถูกบล็อกไปด้วย ซึ่งตนเห็นว่าในกรณีเช่นนี้สามารถเลือกบล็อกข้อความได้

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  วันที่ 5 สิงหาคม 2557 11:45

พิมพ์ อีเมล