บอร์ด สปสช.ฝั่ง ปชช. ร้อง บิ๊กตู่ ชะลอผ่านร่าง กม.บัตรทอง เหตุกระทบสิทธิผู้ป่วย

เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 3292

press cover 11112560 01

บอร์ด สปสช.ตัวแทนประชาชนส่งหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี และ ครม. ชะลอการตัดสินใจร่างกฎหมายบัตรทองออกไปก่อน จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานความถูกต้องที่คนในสังคมยอมรับ ชี้เป็นร่าง กม.แก้สาระสำคัญ พยายามดึงศูนย์อำนาจกลับคืน กระทบความมั่นคงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แนะต้องฟังความเห็นรอบด้านบนพื้นฐานที่ถูกต้อง

          น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนภาคประชาชน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2560 กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) สัดส่วนตัวแทนประชาชน ประกอบด้วย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง, นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง, ผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข และตน ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการตัดสินใจผ่านร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมนำสู่การพิจารณา ครม.

          เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้แก้ไขสาระสำคัญหลายประเด็นที่ส่งผลต่อความมั่นคงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอด 15 ปี ซึ่งในขณะนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทำหนังสือเวียนถามความเห็นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นบอร์ด สปสช.สัดส่วนตัวแทนประชาชนจึงขอนำเสนอความเห็นและประเด็นที่เห็นต่างจากร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามที่คณะกรรมการยกร่างกฎหมายจากการแต่งตั้งโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้จัดทำขึ้น รวมทั้งความเห็นของภาคประชาชนที่เห็นต่าง ต่อนายกรัฐมนตรีและ ครม. เพื่อประกอบการพิจารณาให้รอบด้าน ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีเป้าหมายสำคัญ 3 ด้านคือ 1.การเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน 2.การกระจายบุคลากรสุขภาพไปยังพื้นที่ห่างไกลให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และ 3.การบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

          น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นเรื่องที่ดี หากเป็นการแก้ปัญหาติดขัด เพื่อให้สามารถพัฒนาและเดินหน้าได้อย่างมั่นคง ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้กลับมีสาระที่สวนทางเจตนารมณ์ของการสร้างความมั่นคงของระบบหลักประกันสุขภาพ พยายามดึงอำนาจกลับศูนย์กลางอำนาจเดิมคือกระทรวงสาธารณสุข เช่น การเปลี่ยนการจัดซื้อยารวมระดับประเทศที่ สปสช.ทำได้ดีมาโดยตลอด ประหยัดงบประมาณกว่า 5 หมื่นล้านบาทตลอด 10 ปี ตามมาตรา 47/2 รวมถึงการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ตามมาตรา 46 (2) จะมีผลทำให้เกิดการกระจุกตัวของบุคลากรสุขภาพในเขตเมืองใหญ่ ไม่กระจายไปตามจำนวนประชากรในเขตชนบท เป็นต้น

          นอกจากนี้ในร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้น ประเด็นที่ควรได้รับการแก้ไขกลับไม่แก้ อาทิ การแก้ไขเพื่อรองรับการปฏิรูประบบสุขภาพตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ข้อ ซ (4) ที่มุ่งเน้นปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการและการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน ที่เป็นเจตนารมณ์ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ในมาตรา 9, 10 และบทเฉพาะกาล มาตรา 66 ที่ต้องการลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการใน 3ระบบประกันสุขภาพ แต่กลับไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริง เป็นต้น

          “การยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีและ ครม. ของบอร์ด สปสช.ตัวแทนประชาชนครั้งนี้ เพื่อนำเสนอข้อมูลผลกระทบและความเห็นคัดค้านของประชาชน รวมถึงมุมมองวิชาการเพื่อประกอบการพิจารณารอบด้านก่อนการตัดสินใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดในวงกว้าง พร้อมกันนี้ขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.ชะลอการตัดสินใจและพิจารณากฎหมายนี้ออกไปก่อน จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานความถูกต้องที่คนในสังคมยอมรับ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องและยั่งยืน” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

พิมพ์