“กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ” ประกาศพร้อมลุกสู้ปกป้อง “บัตรทอง” หากยังเดินหน้าแก้ประเด็นเห็นแย้งตัวแทนภาคประชาชนประกาศพร้อมปกป้อง “บัตรทอง” ขณะที่ชาวอีสานเริ่มร่วมลงชื่อคัดค้านแก้กฎหมายแล้ว

600706 news

โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน – 6 กรกฎาคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจัดเวทีเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทองอย่างไร ให้ประชาชนได้ประโยชน์?” เป็นเวทีคู่ขนานกับการพิจารณาหารือเพื่อแก้ไขร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของคณะกรรมการพิจารณายกร่างฯ ซึ่งมี ศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน พร้อมแถลงข่าวแสดงจุดยืนถึงแนวทางการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันฯ กล่าวว่า แม้การแก้ไขกฎหมายบัตรทองยังดำเนินต่อไปภายหลังการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นนั้น ทางกลุ่มฯ มีข้อเสนอ 3 ข้อในการแก้ไขกฎหมายฯ คือ 1.ขอให้แก้ไขเฉพาะประเด็นที่มีความเห็นร่วมกัน หรือให้ยึดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 เรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจําเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผ่านการกลั่นกรองและเป็นการแก้ไขกฎหมายที่ได้ประโยชน์

แกนนำกลุ่มฯ กล่าวต่อไปว่า 2. ไม่ควรแก้ไขข้อเสนอที่ยังมีความเห็นต่างในตอนนี้ ควรให้เวลาพูดคุยและสร้างความเข้าใจเพื่อหาผลสรุปที่ดีที่สุด ทั้งการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว การกำหนดให้หลักประกันสุขภาพฯ ครอบคลุมทุกคนบนแผ่นดินไทย เพราะขณะนี้มีกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นในการหาทางออก


“หากเดินหน้าในประเด็นขัดแย้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนจะจับตาและจะลุกขึ้นสู้เพื่อปกป้องทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้หลักประกันสุขภาพกลายเป็นระบบอนาถา เพราะเราทุกคนต่างหวงแหนในระบบหลักประกันสุขภาพฯ และหากยังคงเดินหน้าแก้ไขประเด็นขัดแย้งนี้อยากให้คิดให้ดี” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า 3. ขอให้ตอบคำถามถึงข้อเสนอของภาคประชาชนที่ขอให้แก้ไขมาตรา 9 และ 10 เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในเชิงบริหารและงบประมาณ ซึ่งตามบทเฉพาะกาลของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กำหนดให้มีการพูดคุยเพื่อรวมระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการให้เป็นระบบเดียวกัน ซึ่งจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้ทุกคนอยู่ภายใต้ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยขอให้รัฐบาลตอบคำถามว่าจะต้องใช้เวลาแก้นานแค่ไหน

ด้านนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ยังมีข้อเสนอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดำเนินการจัดซื้อยาเองได้ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา อย่างไรก็ดี การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้กลับไม่มีเรื่องนี้รวมอยู่ด้วย แต่ถูกกลืนหายไปโดยความตั้งใจ ซึ่งในฐานะคนทำงานด้านพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคต้องการเห็นทุกคนใช้บัตรประชาชนใบเดียวในทุกระบบ มีมาตรฐานรักษาเดียวกัน มีความเท่าเทียม เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาและการรักษา

“ขอฝากถึงคนที่พยายามเบี่ยงประเด็นการแก้กฎหมายว่าเราเป็นพวกได้ประโยชน์ว่าเราไม่เคยได้ประโยชน์จากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่เราทำงานคุ้มครองสิทธิ และการทำงานคุ้มครองสิทธิก็ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นการทำงานในเรื่องที่เราอยากเห็น” นางสาวสารี กล่าว

นางสาวบุษยา คุณากรสวัสดิ์ ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า มีความพยายามชงประเด็นเรื่องการร่วมจ่ายมาตลอด ซึ่งสำหรับคนมีรายได้ไม่มาก หากเจ็บป่วยเล็กน้อยคงร่วมจ่ายได้ แต่หากเจ็บป่วยด้วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างโรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง เขาจะร่วมจ่ายได้อย่างไร และคงจะล้มละลายจากการรักษาเช่นเดียวกับในอดีต

“ตัวเองและครอบครัวมีชีวิตรอดได้ก็เพราะบัตรทองช่วยรับภาระค่ารักษา เพราะแม่ป่วยเป็นข้อเข่าเสื่อมทั้ง 2 ข้าง หากมีการแก้ไขกฎหมายที่เปลี่ยนหลักการให้ร่วมจ่าย เราสู้แน่นอน เพราะถ้าไม่สู้วันนี้ วันหน้าเราก็ต้องตายเหมือนกัน" นางสาวบุษยา กล่าว
ขณะที่นางสาวมีนา ดวงราษี ตัวแทนจากเครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน กล่าวว่า ในนามประชาชนภาคอีสานขอยืนยันคัดค้านการแก้ไขกฎหมายบัตรทองตั้งแต่การพิจารณาร่างกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นได้จากประชาชนกว่า 60,000 คนที่ร่วมลงชื่อในปี พ.ศ.2543 ซึ่งยากเย็นกว่าที่จะออกมาได้ แต่การแก้ไขกฎหมายที่เกิดขึ้นนี้ กลับเป็นไปอย่างลวกๆ จึงขอให้ยุติการแก้ไขกฎหมายนี้ และขอให้ทบทวนเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภาคที่ผ่านมา

“เราขอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายบัตรทองใหม่หลังเลือกตั้ง เพราะประชาชนจะได้มีส่วนร่วมมากกว่านี้ ซึ่งขณะนี้ชาวอีสานได้ร่วมลงชื่อเพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมาย และขอฝากไปยังคณะกรรมการร่างกฎหมายด้วยว่า เราเป็นประชาชนที่รักกฎหมายฉบับนี้ หากยังไม่ยุติและเดินหน้า เราเองก็จะไม่ละวาง และจะติดตามให้ถึงที่สุด” ตัวแทนเครือข่ายผู้หญิงภาคอีสาน ให้ความเห็น

นางชโลม เกตุจินดา ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า ที่ผ่านมา ศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวในเวทีปรึกษาสาธารณะ ว่าเวทีนั้นเป็นเพียงแค่เวทีทดลองไม่ใช่การรับฟังความเห็น จึงต้องการบอกว่าการรับฟังความเห็นเป็นเวทีศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่แค่เรื่องพิธีกรรม ขอให้ท่านให้เกียรติและให้ค่าประชาชน ซึ่งนอกจากเวทีประชาพิจารณ์แล้วยังมีเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งขอให้ความสำคัญด้วย

พิมพ์ อีเมล