‘วรากรณ์’ ยันเดินหน้าแก้ กม.บัตรทอง ใช้หลักเห็นพ้อง เตรียมเสนอ รมว.สธ. 19 ก.ค.นี้

126840

กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจี้ ‘วรากรณ์’ แจงแนวทางจัดการความเห็นต่าง พร้อมขอยื่นหนังสือแสดงจุดยืน 4 ความเห็นร่วม 5 ความเห็นต่าง และ 7 ข้อเสนอใหม่แก้ กม.บัตรทอง พร้อมตั้งข้อสังเกต สธ.จัดเวทีเสวนา ‘แก้กฎหมายบัตรทอง ประชาชนได้อะไร’ ชน ด้าน ‘วรากรณ์’ ยืนยันเดินหน้าแก้ไขกฎหมาย ใช้ความเห็นพ้อง ไม่ใช้เสียงเอกฉันท์ นำเสนอ รมว.สาธารณสุข 19 ก.ค.นี้

ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ – เมื่อเวลา 9:30 น. นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ได้เปิดเวทีปรึกษาสาธารณะ (Public Consultant) เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... โดยมีตัวแทนผู้ให้บริการ ภาคประชาชน นักวิชาการ และผู้จัดระบบหลักประกันสุขภาพเข้าร่วมประมาณ 100 คน เพื่อหารือข้อสรุปรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการหารือเวทีปรึกษาสาธารณะ นางชโลม เกตุจินดา ประธานเครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนภาคใต้ พร้อมด้วยแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ อาทิ น.ส.บุษยา คุณากรสวัสดิ์, น.ส.มีนา ดวงราษี, นางกัลยา พุ่มพึ่ง, นางชุลีพร ด้วงฉิม, นางเตือนใจ สมานมิตร เป็นต้น ได้รวมตัวบริเวณหน้าเวทีห้องประชุม เพื่อคัดค้านกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ รวมทั้งการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะฯ ในวันนี้ เนื่องจากมองเป็นกระบวนรับฟังความเห็นที่ไม่เปิดกว้าง การแก้ไขกฎหมายยังมีส่วนร่วมน้อยมาก โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งมีตัวแทนร่วมเป็นคณะกรรมการยกร่างกฎหมายเพียงแค่ 2 คน อีกทั้งประเด็นที่ถูกแก้ไขยังเป็นเรื่องที่ยังมีความเห็นต่างและมีการคัดค้าน จึงขอให้ยุติการแก้ไขกฎหมายนี้ พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตการจัดเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทอง ประชาชนได้อะไร” ซึ่งมีการจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ที่บริเวณชั้น 2 ของศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โดยกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากนี้แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพยังได้เรียกร้องให้ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรมการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งร่วมการเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทอง ประชาชนได้อะไร” ขึ้นมาชี้แจงแนวทางการจัดการความเห็นที่แตกต่างในการแก้ไขกฎหมายนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปก่อนที่จะเริ่มเวทีปรึกษาสาธารณะนี้ โดยในระหว่างที่รอคำตอบทางแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพต่างได้สลับแสดงความเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านและมีการบังคับใช้ตามกฎหมาย

ทั้งนี้ต่อมาภายหลังจากที่การเสวนา “แก้กฎหมายบัตรทอง ประชาชนได้อะไร” จบลง ด้าน รศ.ดร.วรากรณ์ ให้สัมภาษณ์โดยระบุว่า หากภาคประชาชนต้องการพูดคุยอยากให้ลงมาข้างล่างมากกว่า ทั้งนี้ในประเด็นที่ยังเห็นต่างอย่างกรณีการเพิ่มสัดส่วนบอร์ด สปสช. หากคัดค้านกันมากก็ปรับกันได้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร เพียงแต่ที่ผ่านมาในคณะกรรมการยกร่างฯ มีความเห็นว่า อยากให้มีตัวแทนวิชาชีพเพิ่มขึ้นเท่านั้น ส่วนการร่วมจ่ายคณะกรรมการฯ เพียงแต่ดำเนินตามกฎหมายเก่า โดยให้เว้นผู้ยากไร้ที่จะไม่มีการจัดเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้จะไม่ระบุว่าจะไม่เก็บค่ารักษากับทุกคน เพราะการกำหนดแบบนั้นเท่ากับเราทำร้ายคนยากไร้ เพราะจะทำให้คนมีเงินไม่ต้องร่วมจ่ายทั้งที่ค่ารักษาพยาบาลนับวันจะมีมูลค่าสูงขึ้น โดยเราสามารถนำเงินที่จัดเก็บไปช่วยเหลือคนจนได้

เช่นเดียวกับการแยกเงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์กับงบเหมาจ่าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเหตุให้หลายโรงพยาบาลต้องติดลบ ดังนั้นการแยกเงินเดือนจะทำให้เกิดความชัดเจนในงบค่ารักษา ทำให้เห็นตัวเลขชัดเจน และในอนาคตอาจได้งบประมาณเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังแก้ไขในส่วนตามประกาศ ม.44 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเคยตั้งข้อสงสัย สปสช.ไม่มีอำนาจ แต่นายกรัฐมนตรีได้ใช้ ม.44 เพื่อให้ สปสช.เดินหน้าต่อไปได้ เช่น กรณีการจ่ายเงินให้กับหน่วยงานที่ไม่ใช่หน่วยบริการ การจ่ายเงินค่าทำขวัญความเสียหายให้กับผู้รับบริการโดยไม่ต้องไล่เบี้ย และการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ เป็นต้น

“ขั้นตอนจากนี้เป็นการประมวลทางวิชาการในประเด็นที่ได้รับฟังความเห็น โดยสภาบันพระปกเกล้าร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจะนำเข้าสู่การพิจาณาของคณะกรรมการยกร่างฯ ซึ่งกำหนดนำเสนอต่อ รมว.สาธารณสุข ในวันที่ 19 กรกฎาคม นี้” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวและย้ำว่า การพิจารณาเราใช้เหตุผลกันได้ ซึ่งการพิจารณาในคณะกรรมการยกร่างฯ ก็ไม่ได้ขัดแย้ง เพียงแต่มีความเห็นของกรรมการที่เป็นส่วนน้อย ซึ่งเราก็เข้าใจ เพราะคนเราจะเห็นเป็นเอกฉันท์ทุกเรื่องคนเป็นไปไม่ได้ แต่ต้องใช้เป็นความเห็นพ้อง มีแห่งเดียวที่ใช้ความเห็นเอกฉันท์คือ WTO ซึ่งก็เจ๊งไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นการพิจารณาเราต้องใช้เหตุผล

ทั้งนี้หลังจากที่ รศ.ดร.วรากรณ์ ยืนยันที่จะไม่ขึ้นมารับหนังสือในเวทีปรึกษาสาธารณะฯ นพ.พลเดช จึงเป็นผู้รับมอบหนังสือจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแทน โดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม แกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เรามีข้อเสนอ 4 ประเด็นเห็นร่วม 5 ประเด็นเห็นต่างในร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมกันนี้ยังมี 7 ประเด็นที่เป็นข้อเสนอใหม่ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อนำไปสู่ปฏิรูประบบสุขภาพ ว่า

4 ประเด็นที่เราเห็นร่วมในการแก้ไขคือ

1.มาตรา 14 ห้ามดำรงตำแหน่ง 2 คณะในขณะเดียวกัน

2.มาตรา 15 วาระกรรมการไม่เกินสองสมัย

3.มาตรา 29 รายได้ของสำนักงานฯ ไม่ต้องนำส่งกระทรวงคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

และ 4.ยกเลิกมาตรา 42 เรื่องการไล่เบี้ยผู้ให้บริการ ลดความขัดแย้งในระบบบริการ

ส่วน 5 ประเด็นที่เห็นต่าง คือ

1.ไม่เห็นด้วยการเพิ่มนิยาม “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพ” ตามมาตรา 3 เนื่องจากเพิ่มคำนิยามนี้จะเป็นการขัดแย้งวัตถุประสงค์ของกองทุน มาตรา 38 และจำกัดความหมายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2.ไม่เห็นด้วยการแก้ไขมาตรา 13 ที่กำหนดให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นรองประธานบอร์ด เพิ่มผู้แทนหน่วยบริการ 5 คน และตัดผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ 4 คน

3.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 41ระบุให้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยเห็นควรเพิ่มเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับผู้รับและผู้ให้บริการ

4.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 46 ที่เสนอให้มีการแยกเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว

5.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 48(8) ที่มีการเฉพาะเพิ่มเฉพาะวิชาชีพและผู้ให้บริการ โดยขอเพิ่มสัดส่วนของงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคและหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนเป็นอิสระจากผู้ให้บริการตาม 50 (5) และเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

สำหรับ 7 ข้อเสนอใหม่ในการแก้ไขเพื่อการปฏิรูปกฎหมาย คือ

1.แก้ไขมาตรา 5 ให้บริการสาธารณสุขคนไทยทุกคนรวมถึงบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ คนไทยพลัดถิ่น คนไทยตกสำรวจ พร้อมยกเลิกการเก็บร่วมจ่าย ณ หน่วยบริการ

2.แก้ไขมาตรา 9 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์ด้านบริการสาธารณสุขเดียวสำหรับทุกคน

3.แก้ไขมาตรา 10 เสนอให้มีสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับประชาชนทุกคน และรัฐต้องจ่ายสมทบเรื่องสุขภาพให้ผู้ประกันตน

4.เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 18 แก้ไขอำนาจคณะกรรมการในการจัดหาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้เงินกองทุน

5.แก้ไขมาตรา 26 ให้สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่ไม่โปร่งใส

6.แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 47/1 ให้สามารถสนับสนุนองค์กรชุมชน องค์กรเอกชน และภาคเอกชนที่ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร

และ 7.เสนอให้ตัดบทเฉพาะกาลมาตรา 66 ออกทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 9 และมาตรา 10 เรื่องการบริหารจัดการกองทุน โดยข้อเสนอใหม่นี้จะนำไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศอย่างแท้จริง

“เมื่อทางประธานคณะกรรมการยกร่างฯ ไม่รับหนังสือนี้ เราขอฝาก สช.โดยอาศัยกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ในการดำเนินการให้ประเด็นเห็นต่างและข้อเสนอใหม่เป็นประเด็นเฉพาะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่ได้ความเห็นพ้องร่วมกัน เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญและเป็นภารกิจของ สช.ที่ต้องเดินหน้าต่อไป”

ด้าน นพ.พลเดช กล่าวว่า สช.ยินดีจะใช้กระบวนการมีส่วนร่วม เป็นหน้าที่ สช.ในการรับข้อเสนอที่เป็นนบายจากทุกฝ่าย โดยเราจะดูแลกระบวนการนี้ และหวังว่าจะได้ความเห็นร่วมกัน ส่วนจะให้คณะกรรมการยกร่างฯ แก้ไขเพียง 4 ประเด็นที่เห็นร่วมนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการยกร่างฯ ที่จะเห็นชอบต่อไป.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีการยื่นหนังสือเรียบร้อยแล้ว กระบวนการเวทีปรึกษาสาธารณะร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินต่อไป

ข้อมูลจาก สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ

พิมพ์ อีเมล