สบส.จ่อออกหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่าย บังคับตามกม.ให้เอกชนรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉิน

581104 medical
เมื่อวันที่ 16 มกราคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้านโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ ว่า ขณะนี้พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่4) พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้การรักษาฉุกเฉินของสถานพยาบาลด้วย จึงได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) ที่เป็นผู้กำกับดูแลสถานพยาบาลตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2559 พิจารณาในรายละเอียดของพ.ร.บ.ว่าอะไรที่บังคับให้สถานพยาบาลเอกชนต้องดำเนินการ หรือไม่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามนโยบาย ทั้งนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม ก่อนนำมาพิจารณาต่อไป

“ส่วนตารางราคาและอัตราจ่าย (Fee Schedule)ให้กับสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมให้การรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.)ดำเนินการเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการส่งให้ 3 กองทุนที่ดูแลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.)และกรมบัญชีกลาง พิจารณาให้ความเห็นชอบ ส่วนสถานพยาบาลเอกชนนั้น เท่าที่ทราบให้ความเห็นชอบในอัตราดังกล่าวแล้ว และมีสถานพยาบาลเอกชนส่วนหนึ่งพร้อมที่จะเข้าร่วมตามนโยบายนี้ แม่จะไม่ได้กำไรแต่เป็นการช่วยชีวิตคนไข้ได้” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิบปะ สบส. กล่าวว่า มาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2559 กำหนดให้สถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาวะอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้นๆ เท่ากับว่าสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งจะต้องให้บริการรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินตามที่กฎหมายบังคับ

“ในส่วนของค่าใช้จ่ายนั้น สบส.จะต้องจัดทำกฎหมายลูก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการ ซึ่งเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะจ่ายให้กับสถานพยาบาลเอกชนที่ให้บริการรักษาฉุกเฉินจะเป็นส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์ฯนี้ โดยจะต้องมีการแต่งตั้งอนุกรรมการจัดทำกฎหมายลูกประกอบพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2559 มีรองอธิบดีสบส.เป็นประธาน ทั้งนี้ จะมีการนำค่าใช้จ่ายที่สพฉ.ทำเสร็จแล้วมาใช้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของอนุกรรมการฯ จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของครม.จึงจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งเมื่อหลักเกณฑ์ฯนี้ของสบส.ประกาศใช้แล้ว สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งจะต้องปฏิบัติตามเพราะเป็นเชิงควบคุม ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่สพฉ.จะเป็นเชิงขอความร่วมมือ ”ทพ.อาคมกล่าว

 

ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ 16 ม.ค.60

พิมพ์ อีเมล