จี้! ประกันสังคม ยกเลิกอัตราค่าบริการแนบท้าย สิทธิประโยชน์ไม่เอื้อกับผู้ประกันตน

590826 news
คณะทำงานการปฏิรูประบบประกันสังคม
ยื่นหนังสือปลัดกระทรวงแรงงาน ยกเลิกออกประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากทำงาน



วันที่ 25 สิงหาคม 2559 เวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน คณะทำงานการปฏิรูประบบประกันสังคม เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ได้เข้ายื่นหนังสือกับม.ล. ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และนางชลอลักษณ์ แก้วพวง ผู้อำนวยการ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ กรณีการออกประกาศคณะกรรมการแพทย์ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากทำงาน ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2559

โดยมีการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ในการรักษาทางทันตกรรมของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ให้ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าบริการได้ตามความเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาทต่อปี โดยมีเงื่อนไขการอัตราค่าบริการแนบท้ายประกาศดังนี้ 1. ค่าขูดหินปูนทั้งปาก จำนวน 400 บาท 2. ค่าอุดฟันด้วยวัสดุ Amalgam จำนวน 1 ด้าน 300 บาท , จำนวน 2 ด้าน 450 บาท 3. อุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน 1 ด้าน (ฟันหน้า 350 บาท ) (ฟันหลัง 400 บาท) 2 ด้าน (ฟันหน้า 400 บาท ) (ฟันหลัง 500) 4. ถอนฟัน (ฟันแท้) 250 บาท ถอนฟันที่ยาก 450 บาท 5. ผ่าฟันคุด 900 บาท ซึ่งภาคีเครือข่ายมีความกังวลอย่างมากว่าประกาศฉบับนี้จะทำให้เกิดข้อจำกัดในสิทธิการรักษาทางทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน รวมถึงสร้างความสับสนในแนวทางปฏิบัติในวงกว้าง จึงเรียกร้องให้มีการยกเลิกประกาศแนบท้ายฉบับดังกล่าว

นายมานัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)กล่าวว่า ประกาศแนบท้ายของคณะกรรมการการแพทย์ ณ วันที่ 7 มีนาคม 2559 เป็นการลิดรอนสิทธิผู้ประกันตนให้ด้อยกว่าสิทธิเดิม คือ แต่เดิมผู้ประกันตนมีสิทธิประโยชน์เรื่องทันตกรรมซึ่งกำหนดไว้ 2 ครั้งต่อปี ไม่เกิน 600 บาท แต่เงื่อนไขประกาศแนบท้ายฉบับนี้มีเพดานในการเบิกค่าบริการในแต่ละรายการจึงทำให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายส่วนต่างจากการเข้ารับบริการ อาทิ การถอนฟัน เพดานกำหนดไว้ 250 บาท ฉะนั้นหากผู้ประกันตนไปรับบริการแล้วเสียค่าบริการ 500 บาท ต้องจ่ายส่วนต่าง 250 บาท และเบิกคืนจากประกันสังคมได้เพียง 250 บาท ซึ่งเป็นการทอนสิทธิเดิมลงมา
“ภาคีเครือข่ายมีความเห็นร่วมกันว่าประกาศแนบท้ายมีผลตามแนวทางการปฏิบัติจริง จึงขอให้ยกเลิกประกาศแนบท้ายดังกล่าว โดยคงสิทธิประโยชน์ไม่เกิน 900 บาทต่อปี โดยไม่มีเพดานกำหนดราคาค่าบริการตามตารางแนบท้าย เว้นแต่มีการศึกษาราคากลางที่เป็นธรรม และเป็นจริงทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้สำหรับผู้ประกันตนที่สามารถชะลอการรักษาออกไปได้ แนะนำให้ไปใช้สิทธิการรักษาหรือให้เก็บใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลเพื่อนำไปเบิกตามสิทธิประโยชน์ดังกล่าวหลังจากมีการแก้ไขประกาศแนบท้ายแล้ว” ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.)กล่าว
ม.ล. ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวทางกระทรวงฯ เห็นความสำคัญของผู้ประกันตน และมีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์มาโดยตลอด แต่อาจมีขั้นตอนกระบวนการพิจารณาล่าช้า เนื่องจากมีหลายส่วนงานที่ต้องร่วมกันพิจารณา และหากข้อปฏิบัตินี้ส่งผลกระทบผู้ประกันตนจำนวนมากทางกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมขอรับไปพิจารณาร่วมกันก่อน
“ทางกระทรวงฯ และสำนักงานประกันสังคมจะขอนัดประชุมเพื่อพิจารณาในวาระเร่งด่วนกับคณะกรรมการการแพทย์ก่อนภายใน 60 วันนี้ เพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตนในวงกว้าง และเป็นการทบทวนประกาศดังกล่าวด้วย” ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าว
ทั้งนี้ทางภาคีเครือข่ายมีข้อเสนอการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนดังนี้
1. ขอให้ยกเลิกอัตราค่าบริการแนบท้ายของประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายและเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559 โดยคงสิทธิการเบิกค่าบริการเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 900 บาท ต่อปีไว้ดังเดิมเพื่อให้ไม่มีเพดานในการเบิกค่าบริการในแต่ละรายการ
2. ให้สำนักงานประกันสังคม สร้างระบบฐานข้อมูลผู้ประกันตนระบบการเช็คสิทธิการรักษาพยาบาลและระบบการเบิกจ่ายค่าบริการทางทันตกรรมที่ผู้ป่วยไม่ต้องสำรองจ่าย (ระบบเบิกจ่ายตรง) ที่มีประสิทธิภาพภายใน 1 ปี โดยปรับปรุงแนวทางปฏิบัติที่ทำให้เกิดปัญหาความไม่สะดวกต่างๆ ให้มีความคล่องตัว รวดเร็วและสะดวกต่อทั้งสถานบริการและผู้รับบริการ
3. ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับสถานพยาบาลเอกชนเพื่อดึงสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการเบิกจ่ายตรงกับสำนักงานประกันสังคมให้มากขึ้น รวมถึงทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ประกันตนที่ใช้บริการทั้งในสถานพยาบาลเอกชน และสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถเบิกค่าบริการตามสิทธิได้โดยไม่ต้องสำรอง
4. จัดให้มีการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิทธิ และแนวทางการปฏิบัติในกรณีการรักษาทางทันตกรรมที่ได้รับการแก้ไขแก่ประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบวิชาชีพทางทันตกรรมอย่างกว้างขาวงและต่อเนื่อง

พิมพ์ อีเมล