สธ.ยอม ปชช.กลับไปใช้ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์

สธ.ยอมอ่อนตามภาคประชาชน เอาใจทั้งตั้งชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ สัดส่วนคณะกรรมการใช้ตามร่างเดิม-ตั้งสำนักงาน เป็นอิสระหรือขึ้นอยู่กับ สปสช.-สบส.ให้ครม.ตัดสินใจ คาดได้ข้อสรุปลงตัวสัปดาห์หน้า


       

 

       เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 27 สิงหาคม ที่กระทวงสาธารณสุข ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชมรมเพื่อนโรคไต ฯลฯ ประมาณ 50 คน เดินทางมาร่วมประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรบริการสาธารณสุข พ.ศ...ที่มีการเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข ที่มีนายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานโดยใช้เวลาประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง
       
       นายพิเชฐ กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปเห็นด้วยให้เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.กลับไปใช้ชื่อตามร่างเดิม คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรบริการสาธารณสุข พ.ศ... ส่วนประเด็นการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งร่างเดิมไม่มีความชัดเจนว่าจะตั้งเป็นองค์กรในลักษณะใดในการพิจารณาชั้นกฤษฎีกาให้สำนักงานดังกล่าวขึ้นกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แต่เมื่อภาคประชาชนเห็นว่า สำนักงานน่าจะเป็นองค์กรอิสระหรืออยู่ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้น จะทำข้อสรุปให้กับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการะรทรวงสาธารณสุข นำเรื่องนี้ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทบทวนว่าจะจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะมีมติให้อยู่ภายใต้ สปสช.หรือ สบส.ถือเป็นการตัดสินใจของ ครม.
       
       นายพิเชฐ กล่าวต่อว่า สำหรับองค์ประกอบคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ ที่ประชุมยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันแต่มีแนวโน้มที่จะใช้ข้อกำหนดตามร่างเดิม คือ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและตัวแทนสภาวิชาชีพฝ่ายละ 3 คน เพราะถือว่าเป็นประโยชน์ไม่น่าติดขัดอะไร ทั้งนี้ ตนจะสรุปข้อเสนอต่างๆ ของที่ประชุมให้ รมว.สาธารณสุข เสนอไปยังกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากสำนักงานกฤษฎีกาได้สอบถามความเห็น สธ.ต่อประเด็นที่มีปัญหาอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ คาดว่า ในสัปดาห์จะสามารถยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ ขณะเดียวกัน ครม.สามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวควบคู่กัน
       
       “ร่างเดิมไม่มีสภาวิชาชีพ เช่น ผู้แทนสภาการพยาบาล สมาคมคลินิกไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ ซึ่งภาคประชาชนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นเพราะคุ้มครองผู้บริการไม่ชี้ขาดเรื่องวิชาชีพ แม้ว่าแนวโน้มจะเป็นไปตามพ.ร.บ.เดิมแต่เนื่องจากการประชุมหารือครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนภายสภาวิชาชีพอยู่ด้วย จึงมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้” นายพิเชฐ กล่าว
       
       นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า พอใจผลการประชุมในครั้งนี้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 31 สิงหาคม เครือข่ายภาคประชาชนจะเดินทางมาขอพบ รมว.สาธารณสุข ว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะประเด็นการตั้งสำนักงาน รมว.สธ.ควรจะเสนอความเห็นไปยังสำนักงานกฤษฎีกาให้ชัดเจนว่า จะให้เป็นองค์กรอิสระหรืออยู่ภายใต้ สปสช.หรือ สบส.ซึ่งหากตัดสินใจเลือกให้อยู่ภายใต้ สบส.ภาคประชาชนไม่ยอมอย่างแน่นอน เพราะระหว่างประชาชนกับ สบส.ถือเป็นคู่กรณีกัน

 

 

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 27 สิงหาคม 2552 17:47 น

 

พิมพ์ อีเมล