รพ.เอกชน...แพงเว่อร์คุมราคาค่ารักษาไม่ยาก!

580417 health
เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ใช้เวลาเพียงไม่นาน ก็สามารถล่ารายชื่อได้ถึง 33,000 รายชื่อเพื่อยื่นให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านทาง ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เพื่อเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยเห็นตรงกันว่าค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนนั้นแพงจริง



หากมองในแง่ของการทำธุรกิจ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนนับเป็นธุรกิจประเภทหนึ่งย่อมมุ่งแสวงหากำไรเป็นเรื่องธรรมดา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ราคาค่ารักษาพยาบาลจะแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐที่มีเงินงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล และการใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นทางเลือกที่คนไข้สมัครใจจะไปใช้บริการ นั่นหมายความว่าต้องพร้อมที่จะยอมจ่ายเงินที่แพงกว่า แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนต้องไม่คิดค่ารักษาแบบที่เรียกว่า "แพงจนเว่อร์" อย่างเช่น ค่ารักษาโรคหวัดธรรมดาก็ไม่ควรจะถึงหลักพันบาท เป็นต้น

"กรณีไข้หวัดธรรมดา รพ.ราชวิถี คิดค่ารักษาถูกที่สุด อยู่ที่ประมาณ 500-800 บาท รวมค่ายาและค่าแพทย์แล้ว ส่วนโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว ค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท สูงกว่าประมาณ 6 เท่า แต่ไม่สามารถตอบได้ว่าคุณภาพต่างกันหรือไม่ เพราะไม่ทราบว่าใช้ยาชนิดเดียวกันหรือไม่ เป็นยาในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ แต่บอกได้ว่าราคาต่างกันมากทั้งที่เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา" นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานอนุกรรมาธิการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล กล่าว

แม้ราคาค่ารักษาจะแพงเว่อร์ แต่ก็มีคนไข้เลือกใช้บริการ สาเหตุสำคัญไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเป็นเพราะความแออัดของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีตัวเลขการใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2546 ภายหลังการมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองเพียง 1 ปี โดยจำนวนครั้งที่รับบริการผู้ป่วยนอกปี 2546 อยู่ที่ 91.4 ล้านครั้ง ขยับเป็น 136.2 ล้านครั้งในปี 2554 ขณะที่จำนวนวันอยู่ของผู้ป่วยในเพิ่มจาก 31 ล้านวัน เป็น 32.9 ล้านวัน การไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐจึงใช้เวลานาน ผู้ที่มีหนทางอื่นที่สะดวกสบายกว่าก็ย่อมต้องเลือก

จากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เห็นว่าโรงพยาบาลเอกชน มีจำนวนเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงปี 2552 ที่มี 239 แห่ง เป็น 265 แห่ง ในปี 2553 เพิ่มขึ้น 26 แห่งภายใน 1 ปี และล่าสุดปี 2555 มีจำนวน 334 แห่งเพิ่มขึ้นเกือบ 100 แห่ง ใน 3 ปี ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง จะมีระดับที่แตกต่างกันด้วย เช่น 5 ดาว 4 ดาว และ 3 ดาว เป็นต้น ราคาก็จะแตกต่างกัน

สำหรับค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา บอกว่า หลักๆ แบ่งเป็น 3 หมวด คือ 1.ค่าธรรมเนียมบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งวิชาชีพแพทย์และวิชาชีพอื่นๆ 2.ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น สายสวนหัวใจ ข้อเข่าเทียม เป็นต้น และ 3.ค่าบริการต่างๆ ของแต่ละสถานพยาบาล ซึ่งจะแตกต่างกันไป นอกจากนี้อาจจะมีหมวดย่อยอื่นๆ

จากการพิเคราะห์ ดูเหมือนค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน ที่แพงน่าจะอยู่ที่ค่ายาและค่าบริการอื่นๆ ซึ่งแท้ที่จริงการรับรู้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงและการพยายามช่วยแก้ปัญหาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น เพราะในสมัยที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข ได้มีแนวคิด เรื่อง "กำหนดราคากลางเพื่อเป็นมาตรฐานประเทศในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล" จะใช้เป็นฐานทั้งโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน แต่เกิดการผลัดใบทางการเมือง เรื่องก็เงียบไป

ยุคนี้เริ่มขยับเมื่อนายกฯ เอ่ยปากให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพาณิชย์ร่วมกันแก้ปัญหา ฟากฝั่งกระทรวงสาธารณสุขถึงกับต้องกางกฎหมายภายใต้การรับผิดชอบออกมาก่อนจะพบว่าไม่ได้มีอำนาจตรงในการคุมราคา โดย พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 32 กำหนดเพียงให้ผู้รับอนุญาตสถานพยาบาลต้องแสดงรายละเอียดเรื่องอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการและสิทธิของผู้ป่วยในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานพยาบาล และมาตรา 33 ผู้รับอนุญาตจะเรียกเก็บหรือยินยอมให้มีการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลหรือค่าบริการอื่นเกินอัตราที่ได้แสดงไว้มิได้ และจะต้องให้บริการแก่ผู้ป่วยตามสิทธิที่ได้แสดงไว้ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท นั่นหมายความว่า หากสถานพยาบาลแสดงค่ารักษาพยาบาลให้ผู้ใช้บริการรับทราบแล้วและไม่ได้เก็บเกินอัตราก็ย่อมไม่ผิด

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกประกาศกระทรวงฉบับที่ 3(พ.ศ.2542) เรื่อง ชนิดหรือประเภทของการรักษาพยาบาล การบริการอื่นของสถานพยาบาลและสิทธิของผู้ป่วย นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนะแนวทางการจัดทำบัญชีอัตราค่าบริการของสถานพยาบาลเอกชน ตามประกาศฉบับนี้ด้วย โดยภาพรวมระบุว่า ค่าบริการทางการแพทย์สามารถกำหนดจากค่าต้นทุนบวกกำไรธุรกิจได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ การกำหนดราคากลางยาก็อาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีนักในการแก้ปัญหา เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชน สามารถนำราคากลางมาบวกกำไรทางธุรกิจได้ ผลก็ไม่ต่างจากปัจจุบันที่เกิดขึ้น

ขณะที่ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ก็ไม่ได้ระบุว่าจะเอาผิดบริษัทหรือโรงพยาบาลที่จำหน่ายยาราคาแพง เพราะไม่เคยมีการกำหนดว่าราคากลาง แต่ในร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ....ฉบับใหม่ จะมีการระบุว่าบริษัทยาใดที่ผลิตยาใหม่และมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องมีการแจ้งโครงสร้างราคายาที่เหมาะสมด้วย หากโครงสร้างยาไม่เหมาะสมอาจไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน แต่จะใช้บังคับกับยาใหม่เท่านั้น

ส่วนการจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ด้วยการเข้าไปคุมค่าบริการอื่นๆ เช่น ค่าเตียง ค่าห้อง ค่าบริการต่างๆ คงเป็นเรื่องยาก ส่วนค่ายาพอที่จะดำเนินการควบคุมได้ โดยอำนาจหลักอยู่ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งใน พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ระบุว่า "ยา" จัดเป็นวัตถุควบคุม ฉะนั้นหากบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างเข้มข้น ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาค่ารักษาใน โรงพยาบาลเอกชน

การประชุมร่วม 4 ฝ่าย กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในวันที่ 15 พฤษภาคม จะเป็นคำตอบ !!!

ชนิดและประเภทของการรักษาพยาบาล การบริการอื่นของสถานพยาบาลที่จะต้องแสดงให้เห็นได้ง่าย ณ สถานพยาบาลนั้น

1.ค่าบริการทางการแพทย์ ได้แก่ ค่ายาและสารอาหารทางเส้นเลือด ค่าเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา ค่าบริการโลหิตและส่วนประกอบของโลหิต ค่าตรวจวินิจฉัยทางเทคนิคการแพทย์และพยาธิวิทยา ค่าตรวจวินิจฉัยและรักษาทางรังสีวิทยา ค่าตรวจวินิจฉัยโดยวิธีพิเศษอื่นๆ ค่าอุปกรณ์ของใช้และเครื่องมือทางการแพทย์ ค่าบริการทางกายภาพบำบัด ค่าห้องผ่าตัดและห้องคลอด ค่าบริการทางทันตกรรม ค่าบริการฝังเข็ม ค่าบริการการพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ค่าบริการของผู้ประกอบโรคศิลปะ ค่าบริการเหมาจ่ายการรักษาพยาบาล

2.ค่าธรรมเนียมบุคลากรทางการแพทย์ คือ ค่าตรวจรักษาทั่วไปของผู้ประกอบวิชาชีพ ค่าทำศัลยกรรมและหัตถการต่างๆ ของผู้ประกอบวิชาชีพ และค่าปฏิบัติการอื่นๆ ของผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น ออกใบรับรองแพทย์ ค่าปรึกษาแพทย์ และค่าวิสัญญี

3.ค่าบริการอื่นๆ ได้แก่ ค่าห้องหรือค่าเตียงผู้ป่วยในประเภทต่างๆ ค่าห้องหรือค่าเตียงสำหรับใช้สังเกตอาการ การพักฟื้น หรืออื่นๆ ค่าอาหารผู้ป่วยใน ค่าบริการและรักษาศพ ค่าบริการรถพยาบาล และค่าบริการอื่นๆ

ข้อมูลจาก นสพ.คมชัดลึก  วันที่ 18 พ.ค.58

พิมพ์ อีเมล