ยุติการทำกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนบนความเจ็บป่วยของประชาชน-บทเรียนจากเบลเยียม

เขียนโดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ. จำนวนผู้ชม: 4185

สุขภาพและความเจ็บป่วย ต้องไม่ใช่สินค้าเพื่อแสวงหากำไร หลักการนี้เป็นหลักสากล แต่กำลังเลอะเลือนเพราะระบบทุนนิยมสามานย์

 

ทิศทางของการพัฒนาสำหรับประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยระบบทุนรวมทั้งประเทศไทยคือ การกระจายอำนาจ การลดขนาดของภาครัฐ การส่งเสริมภาคเอกชน ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ในเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคม

แต่สำหรับสุขภาพและความเจ็บป่วย  การกระจายอำนาจและการส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนต้องมีลักษณะพิเศษ  เพราะสุขภาพและความเจ็บป่วยเป็นเรื่องมนุษยธรรม  ไม่ใช่สินค้า ไม่ใช่การค้ากำไรจนเสมือนการทำนาบนหลังคนหรือการทำเงินบนความป่วยไข้ของเพื่อนมนุษย์


บทเรียนจากประเทศเบลเยียมนั้นสะท้อนการจัดการที่น่าสนใจ บนความสมดุลระหว่างการค้าเสรีแบบทุนนิยมและการดูแลสิทธิพื้นฐานในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ


ในปัจจุบันนี้ประเทศทุนนิยมเต็มรูปแบบเช่นประเทศเบลเยียมนั้น  ดูแลสุขภาพของประชาชนด้วยสองระบบสำคัญคือ ระบบคลินิกแพทย์เอกชน  และระบบโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร


ระบบคลินิกแพทย์เอกชนก็เหมือนกับคลินิกแพทย์ในประเทศไทยที่แพทย์มักจะมาเปิดคลินิกในช่วงเย็น  แต่ที่นี่เขาเป็นแพทย์คลินิกเต็มเวลา  ประชาชนที่เจ็บป่วยสามารถโทรศัพท์มานัดและมาหาตามเวลานัดได้  ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะเลือกไปหาคลินิกใกล้บ้าน ไปหาหมอคนเดิมที่รู้จักผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างดี  จนกลายเป็นระบบแพทย์ประจำครอบครัวขึ้นมา  เป็นระบบบริการด่านหน้าหรือระบบบริการปฐมภูมิ


ประชาชนทุกคนที่นี่จะมีหลักประกันสุขภาพอย่างน้อยหนึ่งประเภท  ส่วนใหญ่อยู่ในระบบประกันสังคม  เพราะเกือบทุกคนมีรายได้เป็นเงินเดือน เมื่อไปรับการรักษาที่คลินิกก็จะจ่ายเงินค่าตรวจค่าปรึกษาให้กับแพทย์ในอัตราตามอัตรามาตรฐานของเมืองนั้นๆ  ผู้ป่วยจะไม่ได้ยาแต่ได้ใบสั่งยามาจากแพทย์แล้วต้องนำใบสั่งยาไปซื้อยาที่ร้านเภสัช ผู้ป่วยจะนำใบเสร็จทั้ง 2 ใบไปขอรับเงินคืนจากหน่วยงานประกันสุขภาพในภายหลัง


หากเจ็บป่วยมากกว่าที่ความสามารถของแพทย์ที่คลินิกจะรักษาได้  ก็จะส่งต่อไปที่โรงพยาบาล หรือผู้ป่วยอาจเลือกไปโรงพยาบาลเองโดยไม่ผ่านระบบส่งต่อก็ได้ ระบบโรงพยาบาลที่นี่ก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศไทย  แต่ที่น่าสนใจคือ  ในปัจจุบันนี้  ประเทศทุนนิยมเต็มขั้นหลายประเทศในยุโรปรวมทั้งเบลเยียม  เขาไม่มีทั้งโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนที่แสวงหากำไร    เขามีแต่โรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรเท่านั้น


แต่เดิมนั้นระบบสุขภาพของเบลเยียมมีทั้งโรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนแบบแสวงหากำไร  เมื่อระบบทุนนิยมพัฒนามากขึ้น  หน่วยงานบริการของราชการเกือบทั้งหมด  ได้รับการแปรรูปเป็นองค์กรเอกชนในกำกับของรัฐ ซึ่งบริหารแบบเป็นอิสระ หรือถ่ายโอนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือชุมชน   รวมทั้งโรงพยาบาลของรัฐที่มีประสิทธิภาพต่ำในสายตาของระบบทุนนิยมก็ได้แปรรูปไปเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร นั่นคือโรงพยาบาลยังทำหน้าที่เหมือนเดิม ยังต้องการการบริหารที่มีประสิทธิภาพและมีกำไร  ต้องจัดบริการให้ดีเพื่อประชาชนจะได้มาใช้บริการ เพราะการที่มีผู้ป่วยเลือกมาใช้บริการหมายถึงกำไรและความอยู่รอดขององค์กร   แต่กำไรนั้นไม่ได้เพื่อเข้ากระเป๋าใคร  แต่นำมาบริหารจัดการสร้างคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยและดูแลคนทำงานขององค์กร


ส่วนโรงพยาบาลเอกชนที่มีนักธุรกิจด้านสุขภาพเป็นเจ้าของก็ทยอยปิดตัวลงไปจนปัจจุบันนี้  ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนแบบที่เข้าตลาดหุ้นหรือมีกลุ่มนักธุรกิจเป็นเจ้าของเพื่อการทำกำไรแม้แต่แห่งเดียว เขาได้ปิดกิจการหรือแปรรูปเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรทั้งหมด


สำหรับเบลเยียมเขาวางระบบให้โรงพยาบาลทุกแห่งนั้นต้องเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร  นั่นหมายความว่าองค์กรคือโรงพยาบาลเอกชนนั้นมีกำไรได้  แต่กำไรนั้นหมุนเวียนในการระบบ  เพื่อพัฒนาบริการเป็นหลัก รวมทั้งการดูแลสวัสดิการเงินเดือนโบนัสเจ้าหน้าที่ในอัตราที่รัฐกำกับเพดานไว้ ไม่มีการนำไปจัดสรรเป็นเงินปันผลผู้ถือหุ้นหรือนำเข้ากระเป๋าส่วนตัว  ในปัจจุบันระบบการแพทย์ในเบลเยียมทั้งหมดแทบจะเรียกได้ว่า  เป็นระบบเอกชนที่มีจุดมุ่งหมายสาธารณะ (private system for public purpose)   ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับโรงพยาบาลเอกชนในประเทศอเมริการวมทั้งในประเทศไทยที่นิยมตามก้นอเมริกา ที่ยังมุ่งแสวงหากำไรบนความเจ็บป่วยของผู้คน


วิธีการที่รัฐบาลทำให้ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนเพื่อทำกำไรแบบที่มีมากมายในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือประเทศไทย  เขาก็ใช้วิถีทางในระบบทุนนิยม  คือไม่ได้ใช้อำนาจแบบประเทศเผด็จการ  ที่นี่เขาจะไม่ใช้การจำกัดสิทธิด้วยกฎระเบียบ เพราะขัดต่อหลักเสรีภาพและการค้าเสรี  ซึ่งเป็นหลักการใหญ่ของประเทศตะวันตก  แต่เขาก็มีวิธีที่ยึดหลักการแต่ใช้การบริหารจัดการวางระบบได้  กล่าวคือ องค์กรประกันสังคมของรัฐ (social security organization) ซึ่งเป็นองค์กรถือเงินที่หักจากผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยองค์กรนี้เป็นเสมือนองค์กรซื้อบริการ  เขาจะซื้อบริการจากใครหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นกับนโยบายและการตัดสินใจจากคณะกรรมการประกันสังคมและรัฐบาล


องค์กรประกันสังคมนี่เองที่ประกาศนโยบายที่จะซื้อบริการจากโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรเท่านั้น  ใครไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแบบหวังผลกำไรก็ไม่ว่ากันแต่ต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเองเต็มจำนวน นักลงทุนคนใดจะมาเปิดโรงพยาบาลเอกชนแบบแสวงหากำไรซึ่งเป็นสิทธิที่ทำได้ตามระบอบทุนนิยม  แต่มั่นใจได้เลยว่า ขาดทุนและต้องปิดตัวเองลงอย่างแน่นอน เพราะเกือบทุกคนในประเทศอยู่ในระบบประกันสังคม แม้ว่าผู้ประกันตนย่อมมีเสรีภาพในการเลือกไปใช้บริการที่ใดก็ได้ แต่เมื่อต้องจ่ายเงินเองส่งผลให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีใครเลือกไปใช้บริการในที่ตนต้องเสียเงินเพื่ออีก ในที่สุดทุกโรงพยาบาลเอกชนแบบหวังผลกำไรก็ทยอยปิดตัว ขายกิจการให้กับโรงพยาบาลของมูลนิธิหรือของชุมชนไปในที่สุด


ด้วยระบบประกันสังคมตั้งกติกาในการบริหารเงินประกันสังคมที่มาจากผู้ประกันตน,นายจ้างและภาษีประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ  ด้วยการจะจ่ายค่ารักษาแทนผู้ประกันตนให้กับโรงพยาบาลที่ไม่แสวงหากำไรและในระดับคลินิกเอกชนเท่านั้น กลไกการกำกับด้วยมาตรการทางการเงินนี้ เป็นกลไกหลักกลไกเดียวที่มีประสิทธิภาพการจัดการสูงสุดในโลกทุนนิยม


วิธีคิดของทุนนิยมในยุโรปนั้น  ไม่เหมือนวิธีคิดทุนนิยมในอเมริกา ในอเมริกาทุกอย่างขายได้  ทำกำไรได้ แม้แต่สุขภาพและชีวิตมนุษย์ก็ทำกำไรได้  แต่ที่ยุโรปแนวคิดเรื่องสุขภาพและการศึกษานั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับคนทุกคนที่ต้องสามารถเข้าถึงได้ โดยต้องไม่มีอุปสรรคโดยเฉพาะด้านการเงิน  คนรวยหรือคนจนต้องสามารถเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาลและการศึกษาที่มีคุณภาพโดยเท่าเทียมกัน เพราะนี้คือการธำรงซึ่งศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมในฐานะความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ


โรงพยาบาลเอกชนแบบแสวงหากำไรเข้ากระเป๋านักลงทุนนั้น  เป็นหายนะของระบบสุขภาพที่ดีเพื่อพลโลก  เราสามารถมีระบบสุขภาพที่ดีและต้นทุนต่ำได้ (good health at low cost) เมื่อออกแบบระบบให้สุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสวงหากำไรเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้น อยากรวยก็ให้ไปลงทุนในธุรกิจอื่น


ธุรกิจโรงพยาบาลในปัจจุบันคือธุรกิจที่อาศัยช่องว่างของการบริการภาครัฐที่ยังไม่สมบูรณ์  ทำกำไรเพื่อประโยชน์ส่วนตน  ยิ่งเข้าตลาดหุ้นก็ยิ่งแพงอย่างไร้มนุษยธรรม ในอุดมคตินั้นโรงพยาบาลเอกชนสามารถเติมเต็มช่องว่างเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีกว่าของประชาชนได้อย่างมาก  แต่ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร


หากระบบโรงพยาบาลเอกชนเป็นไปเพื่อการไม่แสวงหากำไร  เราจะสามารถล้างไตผู้ป่วยเพิ่มได้อีกหลายเท่าตัว จะไม่มีวิธีคิดที่ว่าไม่รับล้างไตในอัตราที่ สปสช.จ่ายเพราะทำให้เสียราคา กำไรเข้ากระเป๋าผู้ถือหุ้นบนความตายของผู้ป่วยจะไม่มี เพราะราคาที่กำหนดนั้นเพียงพอต่อการดำเนินการมีกำไรแต่ไม่มากจนเกินไป


เราจะไม่ต้องซื้อเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์คนเฉพาะในกรุงเทพมีเครื่องมากกว่าเกาะอังกฤษทั้งประเทศ เพราะเราจะสามารถใช้ร่วมกันได้  ลดการเสียดุลการค้า เพิ่มประสิทธิภาพในระบบสุขภาพอีกมากมาย


เราจะไม่ต้องมีปัญหาสมองไหลของอาจารย์แพทย์ที่เก่งจากจุฬาฯ รามาฯ ศิริราช ไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่จ่ายค่าตัวซื้อแพทย์คนละหลายล้านเหมือนซื้อตัวนักฟุตบอลไปรักษาแต่คนรวย


เราจะไม่มีปัญหารถชนคนหน้าโรงพยาบาล  แต่ไม่สามารถพาผู้ป่วยที่สาหัสเข้าไปรักษาได้  ต้องพาไปโรงพยาบาลของรัฐที่ไกลกว่าทั้งที่สาหัส  เพียงเพราะเป็นผู้ป่วยที่ไม่ทำกำไร


และที่สำคัญ เราจะไม่มีปัญหาสองมาตรฐานทางการแพทย์ในการรักษาชีวิตและความเจ็บป่วยของผู้คน เพราะเมื่อไม่แสวงหากำไร การตัดสินใจก็จะบนพื้นฐานความรู้ทางวิชาการและประโยชน์ของผู้ป่วยตามบริบทแต่ละคน ซึ่งก็คือการเดินไปสู่การมีมาตรฐานเดียวกันนั่นเองที่มีแนวทางวิชาการเป็นแกนกลาง ไม่ใช่ล้มหัวโนก็ส่งเอ็กซเรย์สมองเพราะหวังกำไรจากความกลัวของผู้ป่วยโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางวิชาการ


วันนี้สังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หลังจากที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ได้ถูกยึดโดยความร่วมมือของฝ่ายแพทย์พาณิชย์ กลุ่มบริษัทยาต่างชาติและกลุ่มผลประโยชน์เดิมที่สูญเสียอำนาจไป ภายใต้การรู้เห็นเป็นใจของรัฐบาล ซึ่งอาจถอยหลังลงคลองไปอยู่ภายใต้วิธีคิดแบบจำกัดสิทธิ สร้างมาตรฐานบริการชั้นสองเพราะถือว่าบริการฟรี ปรับทิศทางการพัฒนาจากการสร้างหรือทำให้ทิศทางการบริหารจัดการไปสู่การซ่อมมากกว่าสร้างสุขภาพ ซึ่งใช้งบมหาศาลและเป็นประโยชน์กับธุรกิจโรงพยาบาลมากกว่าประชาชน


ปัญญาชนเสื้อแดงเสื้อเหลืองควรออกมาร่วมผลักดันการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับคนทุกคน ให้เป็นระบบที่เป็นหนึ่งเดียวกันของทั้ง 3 กองทุนคือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการข้าราชการและครอบครัว  ให้มีการบริหารจัดการร่วมไปสู่มาตรฐานเดียวกัน  และจำกัดบทบาทของธุรกิจโรงพยาบาลลงไปให้น้อยที่สุด จนในที่สุดเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เฉกเช่นที่ประเทศทุนนิยมต้นตำรับอย่างในยุโรปได้ทำ เพราะสุขภาพและความเจ็บป่วย ต้องไม่ใช่สินค้าเพื่อการทำกำไรเข้ากระเป๋าใคร


รัฐบาลจะฉลาดพอไหมที่จะกำหนดทิศทางเดินเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบสุขภาพที่ทั่วโลกยอมรับ  เฉกเช่นที่พรรคไทยรักไทยเคยสร้างประวัติศาสตร์ในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค  แต่น่าเศร้าใจที่วันนี้  10 ปีหลังนโยบายหลักประกันสุขภาพที่ได้สร้างคุณูปการแก่สังคมไทยกลับกำลังจะถูกทำลายด้วยความไร้เดียงสาและไร้ทิศทางของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

 

 

 โดย : นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ นักศึกษาปริญญาโทสาธารณสุขศาสตร์ สถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน เมืองแอนเวิร์ป ประเทศเบลเยียม

อ้างอิงจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 25 มกราคม 2555

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/reader-opinion/20120125/431959/ยุติการทำกำไรของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนบนความเจ็บป่วยของประชาชน-บทเรียนจากเบลเยียม.html

 

พิมพ์