รางวัลแด่นักค้านจีเอ็มโอ ปรับ 2 หมื่น–รอลงอาญา

      
       (ตีพิมพ์ใน “ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 30 พฤษภาคม 2545)
       
       ผู้จัดการรายวัน - อุทาหรณ์ของนักต่อสู้เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรยั่งยืน "เดชา ศิริภัทร" นักรณรงค์ต่อต้านจีเอ็มโอ ถูกศาลพิพากษาให้จำคุก 1 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาด้วยคดีหมิ่นประมาท "อนันต์ ดาโลดม" ส.ว.สุราษฎร์ธานีและอดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร อันเกี่ยวเนื่องมาจากการรณรงค์ต่อต้านการนำพืชตัดต่อพันธุกรรมเข้าทดสอบแล้ว ปล่อยให้หลุดสู่แปลงเกษตรกร เตรียมตัวหาทุนสู้ต่อชั้นอุทธรณ์

วานนี้ (29 พ.ค. 45) ศาลอาญาใต้ได้อ่านคำพิพากษาคดีระหว่างพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา กรุงเทพใต้ 3) โจทย์ นายอนันต์ ดาโลดม โจทย์ร่วม กับนายเดชา ศิริภัทร จำเลย ฐานความผิดหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสียง โดยโจทย์ได้บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจหมิ่นประมาทนายอนันต์ ดาโลดม ผู้เสียหาย ซึ่งมีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจำเลยได้ใส่ความผู้เสียหายด้วยการกล่าวในที่ประชุมสัมมนา เรื่อง แนวทางการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งทางสำนักงานกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้นัดให้มีการสัมมนาโดยได้กล่าวผ่านเครื่องกระจายเสียงพาดพิงถึงผู้เสียหาย มีใจความตอนหนึ่งว่า
       
       "ในกระทรวงเกษตร กรมวิชาการเกษตร ผมอยากจะยกให้ชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่ามีท่านอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหมครับ แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่าน อาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อ ท่านเป็นผู้อาวุโสหรือเปล่า ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจฯ มีใครพูดไหมครับ แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ใครก็รู้ทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะคนแบบนี้เข้ามา เอาบี.ที. เข้ามา เอา จี เอ็ม โอ เอส เข้ามา เพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ"
       
       ซึ่งคำกล่าวของจำเลยในการอภิปรายเจตนาให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเข้าใจไป ว่า อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนปัจจุบัน คือ นายอนันต์ ดาโลดม ผู้เสียหาย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการซื้อตำแหน่ง และผู้เสียหายไม่เป็นผู้เหมาะสมในตำแหน่งนี้ เพราะไม่มีความรู้ ความสามารถในการบริหารกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งยังเป็นผู้คอยรับใช้บริษัทเอกชน เพื่อมุ่งจะเอาแต่หาผลประโยชน์ในกรมวิชาการเกษตร โดยผู้เสียหายในฐานะเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติกักกันพืช พ.ศ.2507 จะอนุญาตให้ จี เอ็ม โอ เอส (สารตัดต่อพันธุกรรม) และ บี.ที. (แบคทีเรียที่มีสารต่อต้านแมลงเจาะสมอฝ้าย) เข้ามาในราชอาณาจักร เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนดังกล่าว
       
       ซึ่งข้อความที่กล่าวมาของจำเลยล้วนเป็นเท็จทั้งสิ้น และมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นและข้อความโดยสุจริต หากแต่เป็นการใส่ความนายอนันต์ ดาโลดม อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เหยียดหยาม และถูกเกลียดชังจากผู้เข้าร่วมสัมมนาและประชาชนทั่วไป
       
       นอกจากนี้ โจทย์ยังมีคำขอท้ายฟ้องว่า ขอศาลได้พิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมาย และขอศาลได้สั่งให้จำเลยลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ มีกำหนด 3 ครั้ง โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา
       
       ศาลฯ ได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลอาญา 328 ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก (อ่านบางส่วนของคำพิพากษาในล้อมกรอบ)
       
       หลังจากฟังคำพิพากษา นายเดชา ศิริภัทร พร้อมด้วยนางเบญจมาศ ศิริภัทร นายประกันได้นำเงินจำนวน 20,000 บาท ไปชำระค่าปรับแก่ศาล และกล่าวว่า ตนจะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลโดยจะขอปรึกษาทนายความก่อน
       
       อนึ่ง คดีนี้สืบเนื่องจากการที่นายเดชา ศิริภัทร ซึ่งเป็นประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก และเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีฝ้ายบีทีหลุดสู่แปลงเกษตรกรได้รับ เชิญจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ให้เป็นวิทยากร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายนที่โรงแรมปริ๊นพาเลซ แขวงมหานาค เขตป้อมปราบฯ กทม.
       
       โดยนายเดชา ได้บรรยายโดยได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการปฏบัติตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ฉบับที่ 8 (แผนฯ 8) เกี่ยวกับโครงการเกษตรยั่งยืนที่ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติของหน่วยงานในกระทรวง เกษตรและสหกรณ์
       
       และนายเดชา ได้ให้เหตุผลประกอบคำบรรยายว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้โครงการเกษตรยั่งยืนไม่สามารถดำเนินได้อย่างเป็น รูปธรรมนั้น เกิดจากผู้บริหารของหน่วยงานระดับกรม อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ที่ใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง ซื้อปุ๋ย สารเคมี เมล็ดพันธุ์ แจกเกษตรกร ซึ่งตนเห็นว่า การจัดซื้อจัดจ้างเช่นนี้ ผู้บริหารน่าจะได้รับผลประโยชน์
       
       ในการบรรยาย นายเดชา ได้อ้างข้อมูลจากรายงานข่าวเชิงวิเคราะห์ของ "ผู้จัดการ" ชุด "เบื้องหลังคนสร้างหนี้เกษตรกรตัวจริง" และ "เกษตรเชิงเดี่ยว-ฉิบหายตายเห็นๆ" โดยเฉพาะ ตอนที่ 1 เรื่อง " 'นักการเมือง-ข้าราชการ' ตัวการสร้างหนี้เกษตรกร" และตอนที่ 3 "โฉมหน้ามาเฟียเกษตรฯ ผู้เสวยสุขบนคราบน้ำตาเกษตรกร" ที่ชี้ให้เห็นถึงการซื้อตำแหน่งของอธิบดี โดยมีบรรษัทข้ามชาติอยู่เบื้องหลัง เป็นเหตุให้อธิบดีคนดังกล่าวต้องนำฝ้ายบีทีและพืช GMOs เข้ามาในประเทศ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โครงการเกษตรยั่งยืน ในแผนฯ 8 ไม่ได้รับการปฏิบัติ และไม่พ้นจากสภาพัฒน์เสียที ทั้งๆ ที่ผ่าน ครม. และมีแผนปฏิบัติการแล้ว แต่ติดอยู่ที่กรม และกองของกระทรวงเกษตรฯ โดยอ้างว่าไม่มีระเบียบให้ใช้เงินได้
       
       ในการต่อสู้คดี นอกจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ที่นายเดชา เป็นประธานแล้ว ยังมีอาสาสมัครในองค์กรพัฒนาเอกชนทั่วประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 300 องค์กร องค์กรของเกษตรกร และองค์กรผู้บริโภคได้จัดตั้งกองทุน โดยสมทบทุนกันเพื่อเป็นทุนในการต่อสู้คดีให้กับนายเดชา รวมทั้งเป็นการเตรียมทุนไว้สำหรับการจัดการด้านคดีความอันเกี่ยวเนื่องกับ การคัดค้าน GMOs ซึ่งเงินในกองทุนมีจำนวนทั้งสิ้น 33,180 บาท และในการเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลในครั้งนี้ได้มีเกษตรกรจากสุพรรณบุรีและ อำเภอเลาขวัญ กาญจนบุรี กว่า 70 คน ได้เดินทางมาให้กำลัใจแก่นายเดชา รวมทั้งเข้ารับฟังคำพิพากษาของศาลด้วย
       
       การฟ้องร้องคดีจนมีคำพิพากษาดังกล่าว เป็นที่ทราบกันว่าเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับกรณีเมล็ดพันธุ์ฝ้ายบีทีหลุดสู่แปลง เกษตรกร อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนายเดชาเป็นกรรมการตรวจสอบการหลุดของฝ้ายบีที และเป็นผู้ติดตามตรวจสอบเอาจริงเอาจังโดยพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ไปดูแปลงของ เกษตรกรที่มีการหลุดของฝ้ายบีที และนำตัวอย่างฝ้ายจากแปลงมาให้ห้องปฏิบัติการหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ DNA Technology Servic Laboratory หน่วยวิจัยเครือข่ายพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปรากฏว่าตัวอย่างฝ้ายดังกล่าวเป็นฝ้ายบีที ซึ่งเป็นฝ้าย GMOs
       
       และเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2542 นยเดชา พร้อมกลุ่มเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย เครือข่ายคุ้มครองพันธุ์พืชไทย พร้อมด้วยโครงการกฎหมายสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย ได้เข้าแจ้งความกล่าวโทษต่อนายอนันต์ ดาโลดม อธิบดีกรมวิชากาเรกษตร กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ปล่อยให้ฝ้ายบีทีหลุดสู่แปลง เกษตรกร โดยมี พ.ต.อ.สุชาติ เหมือนแก้ว รองผู้บัญชาการกองปราบปราม และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผ็รับแจ้ง ซึ่งจนกระทั่งบัดนี้ ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด
       
       ส่วนนายอนันต์เอง ก็เคยจัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2542 โดยตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดในแปลงอื่นที่คณะกรรมการฯ ลงไปเก็บตัวอย่างกลับไม่พบว่าเป็นฝ้าย GMOs แต่ฝ้ายในแปลงที่นำโดยนายเดชา ซึ่งร่วมเป็นกรรมการด้วยพาไปชี้กลับเป็นฝ้าย GMOs พร้อมกล่าวว่ามีกลุ่มบุคคลแปลกหน้าได้นำฝ้ายไปขายให้เกษตรกรเพื่อ "ดิสเครดิต" หรือทำลายความน่าเชื่อถือของกรมวิชาการเกษตร และได้ใช้หลักฐานแวดล้อมเป็นนัยว่าบุคคลแปลกหน้านั้น คือนายเดชา ศิริภัทร
       
       และในครั้งนั้น นายเดชาได้กล่าวตอบว่า กรมวิชาการเกษตรไม่ควรเบี่ยงประเด็น แต่ต้องยอมรับว่ามีการนำไปปลูกในแปลงเกษตรกรจริง ส่วนที่จะมาจากไหน อย่างไร ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่นายเนวิน ชิดชอบ (รมช.เกษตรฯ ในขณะนั้น) จะตั้งขึ้นมาสอบ
       
       อนึ่ง การต้องคำพิพากษาในครั้งนี้ ถือว่าเป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนของนายเดชา ซึ่งทำงานอย่างเอาจริงเอาจังต่ออย่างเนื่องมาตั้งแต่ ปี 2527 จนถึงปัจจุบัน นายเดชาได้เคยต่อสู้คัดค้านอย่างแหลมคมมาแล้วหลายกรณี เช่น การคัดค้านการปลูกยูคาลิปตัส แต่ก็ไม่เคยถูกตอบโต้เหมือนครั้งนี้ ปรากฏการณ์ นี้ทำให้หลายฝ่ายได้ตระหนักว่า ผลประโยชน์ที่แฝงมากับการสนับสนุนพืช GMOs นั้นยิ่งใหญ่และเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย
       
       - - - - -
       ละเอียดคำพิพากษาบางส่วน
       
       ...... พิเคราะห์พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทย์ โจทย์ร่วม และจำเลยและข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2542 เวลา 8.30 - 16.30 น. สภาพัฒน์ฯ จัดให้มีการสัมมนาเรื่องของการพัฒนาเกษตรแบบยั่งยืนที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบ กรุงเทพฯ ในการอภิปราย ผู้อภิปรายจะอภิปรายผ่านเครื่องกระจายเสียง จำเลยซึ่งเป็นผู้อภิปราย ผู้อภิปรายจะอภิปรายผ่านเครื่องกระจายเสียง จำเลยซึ่งเป็นผู้อภิปรายคนหนึ่งกล่าวข้อความดังโจทย์ร่วมช่วงหนึ่งว่า
       
       "ในกระทรวงเกษตร กรมวิชาการเกษตร ผมอยากจะยกให้ชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่ามีท่านอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหมครับ แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่าน อาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อ ท่านเป็นผู้อาวุโสหรือเปล่า ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจฯ มีใครพูดไหมครับ แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ใครก็รู้ทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะคนแบบนี้เข้ามา เอา GMOs เข้ามา เพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ"
       
       มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ข้อความที่จำเลยกล่าว เป็นความผิดตามฟ้องของโจทย์และโจทย์ร่วมหรือไม่ โจทย์และโจทย์ร่วมมี นายประเสริฐ สุขใหม่ เบิกความว่า เมื่อได้ฟังข้อความที่จำเลยกล่าวถึงโจทย์ร่วม พยานมีความรู้สึกหวั่นไหว ไม่มั่นใจในโจทย์ร่วม จึงเข้าไปสอบถามเรื่องดังกล่าวกับโจทย์ร่วม ก็ได้รับคำปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ต่อมาได้ร่วมกับนายเสถียร พิมสาร กับนายวิเชียร เพชรพิสิฐ ทำหนังสือรายงานผลการสัมมนา เอกสารหมาย จร.๑ ถึงโจทย์ร่วม
       
       นอกจากนี้ โจทย์ยังมีนายอนันต์ ดาโลดม โจทย์ร่วมเบิกความว่า หลังจากที่จำเลยกล่าวข้องความตามฟ้อง มีบุคคลหลายคนสอบถามโจทย์ร่วมเกี่ยวกับเรื่องที่โจทย์ร่วมได้ตำแหน่งมาโดย การซื้อขาย ทำให้โจทย์ร่วมได้รับความเสียหาย เห็นว่าข้อความที่จำเลยกล่าว "ผมอยากให้เห็นชัดๆ นะครับว่า ในกระทรวงเกษตรนี้ กรมวิชาการเกษตร ถามว่ามีท่านอธิบดีตอนนี้ อธิบดีท่านมาจากไหน มาจากรองปลัด ก่อนรองปลัดมาจากไหน มาจากกรมส่งเสริมการเกษตร ทำไมออกจากกรมส่งเสริมการเกษตรไปเล่า ท่านยังมีมลทินอยู่เลยใช่ไหมครับ" นั้น
       
       แม้ประโยคที่ว่าท่านยังมีมลทินอยู่ใช่ไหม เมื่อฟังแล้วทำให้ผู้ฟังคิดว่าโจทย์ร่วมเป็นผู้มีมลทินในการปฏิบัติราชการ ขณะที่ปฏิบัติราชการอยู่ที่กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งอาจทำให้โจทย์ร่วมได้รับความเสียหายก็ตาม แต่ในเรื่องนี้ปรากฏจากทางนำสืบของโจทย์และโจทย์ร่วมว่า ขณะที่โจทย์ร่วมดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร โจทย์ร่วมเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่โจทย์ ร่วมได้รับมอบหมายให้ดูแลโครงการขุดบ่อน้ำตื้น ๑๑ จังหวัด ซึ่งผลการสอบสวนระบุว่า โจทย์ร่วมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
       
       เมื่อข้อความที่จำเลยกล่าวมีมูลความจริงในส่วนที่ว่า โจทย์ร่วมเคยถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวขณะดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เชื่อว่าจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวโดยสุจริต โดยเชื่อว่าเป็นความจริงดังที่ตนเข้าใจ จึงได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้
       
       ข้อความต่อไปที่ว่า "แล้วคุณมากรมวิชาการนี้ คุณมาอย่างโปร่งใสหรือเปล่า ทำไมท่าน อาจารย์ชนวน ท่านนั่งอยู่นี่ ท่านเป็นลูกหม้อ ท่านเป็นผู้อาวุโสหรือเปล่า ทำไมท่านต้องมาเป็นผู้ตรวจฯ มีใครพูดไหมครับ" นั้น
       
       แม้ข้อความที่จำเลยกล่าว เมื่อคนทั่วไปฟังแล้ว โจทย์ร่วมเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรอย่างไม่โปร่งใส ไม่เป็นไปตามอาวุโส ซึ่งทำให้โจทย์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังก็ตาม แต่คำกล่าวของจำเลยเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ และเป็นการเชื่อโดยสุจริตว่าเป็นเช่นนั้น
       
       เนื่องจากขณะนั้นมีผู้อาวุโสสูงสุด ซึ่งเป็นที่คาดหมายว่าจะได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร คือนายชนวน รัตนวราหะ
       
       และในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งคือผู้มีอาวุโสสูงสุด ซึ่งโจทย์ก็มิได้นำสืบว่า นายชนวนมิใช่ผู้มีอาวุโสสูงสุดในขณะนั้น และมิได้นำสืบให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติ ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีอาวุโสสูง สุด เมื่อโจทย์ร่วมได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ซึ่งผิดจากความคาดหมายของวิญญูชนพึงคาดเห็นเช่นนั้น จึงมีเหตุผลที่ทำให้จำเลยเชื่อเช่นนั้น และหากเป็นการเข้าใจผิด แต่เมื่อกล่าวโดยสุจริตจึงได้รับความคุ้มครองในส่วนนี้เช่นเดียวกัน
       
       ส่วนข้อความต่อไปที่ว่า "แล้วจริงหรือเปล่าที่เขาพูดกันว่ามีการซื้อตำแหน่งให้กัน แล้วใครซื้อ ใครก็รู้ทั้งหมด คุณไม่ต้องพูดตรงนี้ แล้วคุณไปยอมรับคนพวกนี้มาบริหารกระทรวง มาบริหารกรมได้อย่างไร คุณก็เตะเกษตรยั่งยืนกระเด็นออกไปจากกรมคุณสิครับ มันจะไปอยู่ได้อย่างไร เพราะคนแบบนี้เข้ามา เอา GMOs เข้ามา เพราะคุณไปรับใช้บริษัทนั้นใช่ไหมครับ"
       
       เห็นว่า เมื่อจำเลยกล่าวข้อความดังกล่าวทำให้ผู้ที่ได้รับฟังเข้าใจว่า มีผู้ซื้อตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตรให้โจทย์ร่วม และเมื่อโจทย์ร่วมเข้ามาบริหารราชการในกรมวิชาการเกษตร ก็นำฝ้ายบีทีซึ่งเป็นพืชจีเอ็มโอเข้ามาปลูกในประเทศไทย เนื่องจากโจทย์ร่วมทำงานรับใช้บริษัทดังกล่าว ซึ่งทำให้โจทย์ร่วมได้รับความเสียหาย ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังจากผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้เข้าฟังการสัมมนา และประชาชนทั่วไป
       
       แม้ว่าข้อความนำจำเลยหากเป็นความจริงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่จำเลยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นจริง และไม่มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้มาอ้างอิง เพียงแต่กล่าวอ้างว่า นำข้อความดังกล่าวมาจากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และจำเลยไม่ได้อ้างถึงข้อความอื่นใดที่ทำให้จำเลยกล่าวว่าจะเป็นความจริงดัง ที่จำเลยกล่าวหรือไม่
       
       นอกจากนี้ จำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นถึงแหล่งข่าวที่ให้ข่าวในเรื่องดังกล่าวแก่ หนังสือพิพม์ว่าน่าเชื่อถือเพียงใด แม้ในคำสั่งแต่งตั้งโจทย์ร่วมเป็นประธานกรรมการและแต่งตั้งบุคคลภายนอก จากบริษัทมอนซานโต้ จำกัด เข้าร่วมเป็นกรรมการก็ตาม แต่ผู้ที่มีคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวไม่ใช่โจทย์ร่วม และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า โจทย์ร่วมรู้หรือสนับสนุนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งบุคคลภายนอกดังกล่าวอย่าง ไร จำเลยเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ โดยปราศจากพยานหลักฐานที่เชื่อถือได้มาสนับสนุน ข้ออ้างของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น
       
       สำหรับนายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ พยานจำเลยที่อ้างว่ารู้เห็นเรื่องการซื้อขายตำแหน่งด้วยตนเองนั้น ก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมาสนับสนุนคำเบิกความดังกล่าว นอกจากเป็นเรื่องที่นายวิฑูรย์คิดเอาว่าเป็นเช่นนั้น จึงฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
       
       นอกจากนี้ จำเลยก็ทราบว่า เมื่อหนังสือพิมพ์ผู้จัดการลงข่าวดังกล่าว แม้โจทย์ร่วมจะไม่ได้ฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ และไม่มีการลงข่าวแก้ก็ตาม แต่จำเลยก็ทราบดีว่า โจทย์ร่วมมีหนังสือแก้ข้อกล่าวหาไปยังหนังสือพิมพ์ผู้จัดการแล้ว จำเลยจะอ้างว่าเป็นกล่าวโดยเชื่อโดยสุจริตไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการยืนยันให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเชื่อว่า โจทย์ร่วมเข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร โดยมีบริษัทเอกชนซื้อตำแหน่งให้ และเมื่อเข้ามาดำรงตำแหน่งก็บริหารราชการโดยส่อเจตนาไปในทางเอื้อประโยชน์ ต่อบรษิทเอกชนดังกล่าว
       
       เมื่อจำเลยกล่าวยืนยันข้อเท็จจริงที่ยังไม่เป็นที่ยุติว่าเป็นความ จริงหรือไม่ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทย์ร่วม จึงมิใช่การติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยที่จำเลยในฐานะประชาชนมีสิทธิกระทำได้ ซึ่งการติชมดังกล่าวต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิตามกฎหมายของผู้อื่น และไม่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย แต่ข้อความที่จำเลยกล่าวเป็นการกล่าวโดยมุ่งหวังจะทำลายชื่อเสียงของโจทย์ ร่วม อันเป็นการส่อแสดงเจตนาไม่สุจริต จึงเป็นการใส่ความโจทย์ร่วมต่อบุคคลที่สาม โดยการโฆษณาด้วยเครื่องกระจายเสีย โดยประการที่น่าจะทำให้โจทย์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และไม่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ และ ๓๓๐ .......
       
       พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 ลงโทษจำคุก 1 เดือน ปรับ 20,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
       
       เป็นเงิน 20,000 บาท แต่คำฟ้องทีให้จำเลยลงพิมพ์โฆษณาคำพิพากษาคดีนี้ทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ครั้ง ถูกยกฟ้องไป
       
       //////////////////////////
       หมายเหตุ
       
       *จีเอ็มโอเอส ในคำพิพากษาของศาล คือ GMOs (Genetically Modified Organisms) หมายถึง พืช/สัตว์ ตัดต่อยีน พรือ พืช/สัตว์แปลงพันธุกรรม คือ สิ่งมีชีวิตที่ถูกแปลงพันธุกรรมที่ไม่มีในธรรมชาติมาก่อน แต่ยังต้องใช้ฐานพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติอยู่ ถือว่าเป็น "สิ่งที่มีชีวิตแบบใหม่" ยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าพืชชนิดนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค และการบริโภคอาหารที่มาจากชิ้นส่วนของพืช/สัตว์ตัดต่อยีนอาจก่อให้เกิดภูมิ แพ้และโรคที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และในขณะนี้บรรษัทเจ้าของ GMOs ได้ใช้ระบบสิทธิบัตรและเทคโนโลยีอันเป็นเหตุให้เกษตรกรไม่สามารถเก็บรักษา เมล็ดพันธุ์ได้ นับว่าเป็นการผูกขาดอย่างเบ็ดเสร็จ
       
       **บี.ที.ในคำพิพากษาของศาล คือ ฝ้ายบีที เกิดจากเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม โดยการฝากถ่ายยีนที่ได้จากเชื้อจุลินทรีย์ที่ชื่อ Bacillus thuringiensis (B.t.) ซึ่งยีนดังกล่าวจะผลิตโปรตีนที่เป็นพิษต่อหนอนและแมลงบางชนิด โดยเฉพาะหนอนเจาะสมอฝ้ายศัตรูหมายเลขหนึ่ง

พิมพ์ อีเมล