เฝ้าระวังสมุนไพร หวั่นต่างชาติ"ฮุบ"

นางกัญจนา ดีวิเศษ ผู้อำนวยการสำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันสำนักคุ้มครองฯ ได้เฝ้าระวังพืชสมุนไพร 13 ชนิด เช่น มังคุด กวาวเครือ ขมิ้นชัน เป็นต้น และภูมิปัญญาไทย 2 ชนิด คือนวดแผนไทย และฤษีดัดตน รวมเป็น 15 ชนิด จากการตรวจสอบพบว่า มีสมุนไพรของไทยหลายชนิดที่เข้าข่ายถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจากหลายประเทศ แต่เป็นเรื่องยากที่จะเอาผิดหรือร้องเรียนได้ ส่วนฤษีดัดตนและนวดไทยชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นภูมิปัญญาไทยอย่างแน่นอน

"หลายปีที่ผ่านมาพบว่า ภูมิปัญญาไทยยังคงเสี่ยงจะถูกต่างชาติจดลิขสิทธิ์ตลอดเวลา การดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่มีการละเมิดนั้นเป็นเรื่องยาก เช่น บางกรณีเมื่อตรวจสอบกลับพบว่าเป็นการนำภูมิปัญญาไปต่อยอด ซึ่งไม่สามารถเอาผิดได้ การตรวจสอบต้องใช้เวลาและงบประมาณจำนวนมาก ขณะนี้ สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาฯ ได้ว่าจ้างบริษัททนายความเอกชนที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ ให้ดำเนินการทางกฎหมาย หากตรวจพิสูจน์พบว่า ละเมิดภูมิปัญญาของไทย ซึ่งแต่ละประเทศมีกฎเกณฑ์การจดทะเบียนที่ต่างกัน บางประเทศจะมีกำหนดระยะเวลาให้มีการทักท้วง หากไทยไม่มีความรู้ ก็จะเสียเปรียบได้" นางกัญจนากล่าว

"ปัญหาที่สำคัญคือนับตั้งแต่มี พ.ร.บ. คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการออกกฎหมายลูก หรือประกาศกระทรวงที่กำหนดให้มีจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อคุ้มครองพืชสมุนไพรหรือภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย แม้ว่าจะมีการยกร่างประกาศกฎกระทรวงแล้วแต่ขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งใช้เวลากว่า 1 ปี แล้ว จึงทำให้การออกกฎหมายคุ้มครองสมุนไพรไทย หรือภูมิปัญญาไทยทำได้ไม่เต็มที่" นางกัญจนากล่าว

ข้อมูลจาก นสพ.มติชน 04/05/52

พิมพ์ อีเมล