ค้านหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ เชื่อ รพ.จะแย่งชิงหมอกันเอง รองปลัด สธ.เผยรอ 10 ปียังไม่สาย

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคค้านหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ชี้กระทบกับวงการสาธารณสุข แย่งชิงทรัพยากร เสนอแพทยสภาปลดล็อคสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม มีทั้งภาษาไทย-อังกฤษ และให้รักษาเฉพาะผู้ป่วยต่างประเทศในรพ.เอกชนเท่านั้น ด้านรองปลัด สธ.เผยเปิดหลักสูตรช่วงนี้ไม่เหมาะสม เหตุไทยยังขาดแคลนหมออยู่ ขอรอไปอีกสัก 10 ปี 
      
        น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16-18 ธ.ค. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ จะมีการประชุมวิชาการในเรื่อง สองแพร่ง หลักสูตรแพทย์นานาชาติทางเลือกระหว่างโลกาภิวัตน์กับสุขภาพคนไทย ซึ่งคาดหวังว่า จะมีทางออกที่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรแพทย์นานาชาติของโรงเรียนแพทย์ ที่พยายามผลักดันในเรื่องนี้ โดยอ้างว่าเพื่อผลิตแพทย์ไทยให้สามารถรักษาผู้ป่วยต่างชาติหวังให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย เพราะเรื่องดังกล่าวจะทำให้เกิดการผลกระทบกับวงการสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการแย่งชิงทรัพยากรบุคคล หรืออุปกรณ์ต่างๆ และเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย อย่างไรก็ตามสถาบันการศึกษาไม่สามารถอ้างว่าเป็นสิทธิของสถาบันการศึกษาที่จะดำเนินการ เพราะเป็นเงินของมหาวิทยาลัย แต่ในความเป็นจริงสถาบันเหล่านั้นได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ
                      
       “แทนที่จะคิดแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรที่จะรองรับผู้ป่วยต่างชาติด้วยการเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ เอาคนไทยไปเรียนภาษาอังกฤษเพื่อรักษาผู้ป่วยต่างชาติ แพทยสภาก็ควรปลดล็อกการสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากภาษาไทยเพียงอย่างเดียวให้เป็นภาษาอังกฤษด้วย โดยระบุให้แพทย์ต่างชาติต้องรักษาผู้ป่วยของชาติตัวเองในสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น ผู้ป่วยชาติใดมากก็แบ่งเป็นสัดส่วนกันไป  ก็น่าจะทำให้การที่ไทยจะเป็นเมดิคัลฮับยังคงเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ในส่วนของอาจารย์แพทย์คนไทยที่เก่งๆก็จะมีเวลากลับมารักษาคนไทยด้วย”น.ส.สารี กล่าว
                                    
       
       ด้าน นพ.เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะดูแลเรื่องการจัดสรรกำลังคนด้านสาธารณสุข กล่าวว่า  ในมุมมองของสธ.ขณะนี้ประเทศไทยยังมีความต้องการบุคลากรในวิชาชีพสาธารณสุขโดยเฉพาะแพทย์เป็นอย่างมาก แต่ข้อมูลจริงที่ปรากฏถูกบดบังด้วยกรอบอัตรากำลังข้าราชการที่แท้จริงแล้วความต้องการแพทย์มีมากกว่านั้น อีกทั้งนโยบายของสธ.ยังมีการขยายงานให้มีแพทย์บริหารจัดการโรงพยาบาลระดับอำเภอทุกแห่งด้วย ดังนั้นถือว่าประเทศยังขาดแคลนแพทย์อยู่ การผลิตแพทย์หลักสูตรนานาชาติเพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติจึงไม่เหมาะสมในช่วงเวลานี้ หากในอนาคตประมาณ 10 ปีก็อาจเป็นไปได้
                      
       “ขณะนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นมีแพทย์ 300 กว่าคนต่อแสนประชากร แคนาดามี 220 คนต่อแสนประชากร ส่วนอังกฤษมี 180 คนต่อแสนประชากร ส่วนในไทยขณะนี้มีประมาณ 64 คนต่อแสนประชากร แม้ว่าจะเพิ่มจากเดิมแล้วแต่ก็ถือว่าขาดแคลนอยู่ดี ถ้าจะเปรียบก็เหมือนบ้านเลี้ยงไก่ไข่ แต่คนในบ้านยังขาดโปรตีน แต่เรากลับเอาไข่ไปขาย เพื่อเอาเงินเข้าสู่ครอบครัว ขณะที่คนในบ้านยังขาดสารอาหาร เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องถูกหรือผิด แต่เป็นเรื่องจริยธรรม”นพ.เสรี กล่าว

พิมพ์ อีเมล